Health » “โรชฯ” แนะนำดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อผู้ป่วยเบาหวาน

“โรชฯ” แนะนำดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อผู้ป่วยเบาหวาน

11 ธันวาคม 2020
0

Newscurveonline.com : บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด แผนกธุรกิจเบาหวาน แนะนำดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซอฟต์แวร์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย ให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีศักยภาพและความสามารถในการปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมชัดเจนและเป็นมิตรกับผู้ใช้ ด้วยวิธีการรักษาแบบองค์รวมที่ยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางในการรักษา โดยมีเป้าหมายในการจัดการภาวะเบาหวานเฉพาะบุคคล และมีเป้าหมายหลักในการปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลรักษาและอำนวยความสะดวกในการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์

ดิจิทัลแพลตฟอร์มของ “โรช ไดอะบี-ทีส แคร์” (Roche Diabetes Care) จะทำหน้าที่รวบรวมและเก็บข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยทั้งหมดที่มาจากระบบให้บริการต่าง ๆ ของโรชฯ ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถทำงานร่วมกันกับภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งรวบรวมและใช้ประโยชน์จากโซลูชันของตนเองและคู่ค้าได้ทั่วโลก โดยมีเป้าหมายสำคัญในการเปิดใช้งานบริการวิเคราะห์และสร้างข้อมูลเชิงลึกจากโซลูชันที่ทำงานบนแพลตฟอร์มและให้บริการผู้มีภาวะเบาหวานเฉพาะบุคคลได้อย่างมีประสิทธิผล และในอนาคตอันใกล้นี้

ดิจิทัลแพลตฟอร์มของ โรชฯ จะสามารถเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันที่ได้รับการคิดค้นและพัฒนาเพื่อผู้มีภาวะเบาหวานโดยเฉพาะ โดยระบบจะช่วยแจ้งเตือนข้อมูลที่สำคัญต่าง ๆ ให้ผู้ป่วยทราบล่วงหน้า ในขณะเดียวกันทีมแพทย์ก็จะสามารถตรวจสอบและวินิจฉัยอาการได้จากซอฟต์แวร์ที่ใช้ร่วมกันทั่วโลก โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาลเพื่อพบแพทย์

นายมิไฮ อีริเมสซู ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ (ภาคพื้นเอเชียแปซิฟิค) บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด แผนกธุรกิจเบาหวาน กล่าวว่า เรามีความภาคภูมิใจที่ได้นำเสนอแนวคิดของ iPDM – Integrated Personalized Diabetes Management ระบบการจัดการภาวะเบาหวานแบบบูรณาการเฉพาะบุคคลสู่ตลาดในประเทศไทย ซึ่งเป็นแนวทางการดูแลแบบครบองค์รวมที่เน้นให้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง โดยแนวคิดดังกล่าวจะใช้วิธีการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโรคทั้งหมดไว้ในแพลตฟอร์มเดียว เพื่อช่วยให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผู้ป่วยสามารถตัดสินใจเลือกวิธีการในการรักษาได้เต็มประสิทธิภาพ ทั้งยังสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาให้กับผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างเหมาะสม”

แนวคิดของ iPDM ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าสามารถนำมาดูแลผู้มีภาวะเบาหวานได้อย่างมีประสิทธิผล โดยงานวิจัยนี้ได้ทำการศึกษาในกลุ่มผู้มีภาวะเบาหวานประเภทที่ 2 จำนวน 907 คน และแพทย์ 100 คน เป็นระยะเวลา 12 เดือน โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ประกอบด้วย 1.ผู้มีภาวะเบาหวานในกลุ่มควบคุมยังคงได้รับการดูแลตามมาตรฐานการรักษาเดิม และ 2.ผู้มีภาวะเบาหวานในอีกกลุ่มได้รับการดูแลตามแนวทาง iPDM โดยผู้มีภาวะเบาหวานในกลุ่มนี้จะได้รับคำแนะนำให้มีการติดตามระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอ และนำผลระดับน้ำตาลที่ตรวจได้มาปรับเปลี่ยนการดูแลตนเองในเรื่องต่าง ๆ เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย รวมทั้งนำผลน้ำตาลที่ตรวจได้มาทำการวิเคราะห์กับแพทย์ โดยแพทย์จะวิเคราะห์ข้อมูลผลระดับน้ำตาลในเลือดโดยใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งในส่วนนี้แพทย์จะมีข้อมูลในการอธิบายคนไข้เรื่องการใช้ยาและการปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละรายในกลุ่ม iPDM

หลังจากผ่านไป 12 เดือนผู้ป่วยในกลุ่ม iPDM ประสบความสำเร็จในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้นกว่าเดิม และแตกต่างจากกลุ่มควบคุมที่ได้รับการดูแลตามมาตรฐานการรักษาเดิมอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งยังสามารถลดระดับค่าน้ำตาลในเลือดได้มากกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมตามปกติ และแพทย์รายงานว่าผู้ป่วยมีความสม่ำเสมอในการรักษาเบาหวานและมีความพึงพอใจต่อการรักษาเช่นเดียวกัน

“แผนกธุรกิจเบาหวานของ โรชฯ เล็งเห็นว่าการแพร่กระจายของ COVID-19 ทั่วโลก เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในวงการแพทย์และระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญและนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้งานอย่างแพร่หลาย ซึ่ง โรชฯ มีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเป้าหมายนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้มีภาวะเบาหวานในประเทศไทย รวมทั้งระบบการดูแลสุขภาพและสังคมโดยรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

 

ดิจิทัลแพลตฟอร์ม โรชฯ รองรับการแพทย์ทางไกลในประเทศไทย

ดิจิทัลแพลตฟอร์ม โรชฯ เริ่มมีการนำไปใช้งานในสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และมีอัตราการใช้งานที่เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวให้บริการต่าง ๆ ครอบคลุมไปถึง การตรวจคัดกรองทางไกล การให้คำปรึกษาทางไกล การติดตามและฝึกสอนผู้ป่วยทางไกล เป็นต้น ปัจจุบัน โรชฯ ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐและบริษัทเอกชน เพื่อเชื่อมต่อเครื่องตรวจระดับน้ำตาลในเลือดของ โรชฯ เข้ากับแพลตฟอร์มในการดูแลผู้ป่วยทางไกลที่มีอยู่แล้ว

อาจารย์แพทย์หญิง ณิชกานต์ หลายชูไทย แพทย์ต่อมไร้ท่อและเมตะบอลิสม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ระบบดิจิทัลเป็นเครื่องมือที่ช่วยเชื่อมต่อระหว่างบุคลากรทางการแพทย์และผู้มีภาวะเบาหวานให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น ระบบจะแบ่งปันข้อมูลบนคลาวด์ช่วยให้แพทย์เข้าถึงข้อมูลเชิงลึกและวินิจฉัยอาการของผู้ป่วยได้เร็วและแม่นยำขึ้นกว่าเดิม จากเดิมที่โรงพยาบาลเป็นศูนย์กลางในการรักษาโดยคนไข้จะต้องเดินทางมาพบแพทย์ ไปสู่การดูแลรักษาเฉพาะบุคคลโดยที่คนไข้เป็นศูนย์กลางในการรักษา

นายแพทย์เอกพล พิศาล อายุรแพทย์และผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาขุน กล่าวว่า ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบัน ทำให้วงการแพทย์และการดูแลสุขภาพได้พลิกโฉมวิธีการรักษาและช่วยให้ผู้ป่วยสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตเพื่อให้มีสุขภาพที่ดี ผู้ป่วยเริ่มเรียนรู้และใช้เทคโนโลยีเพื่อดูแลสุขภาพของตนเองผ่านอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ส่วนตัว ซึ่งสามารถแปลผลข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ เช่น ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาได้ด้วยตนเอง ส่วนแพทย์ก็สามารถดูข้อมูลเชิงลึกผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มการจัดการเบาหวานออนไลน์ได้ ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยลดระยะเวลาในการรวบรวมข้อมูล ทำให้แพทย์มีเวลาที่จะให้คำปรึกษากับผู้ป่วยได้เต็มประสิทธิภาพ

เมื่อมีการเชื่อมต่อและเพิ่มข้อมูลเชิงลึกในการรักษาของผู้ป่วย ร่วมกับการใช้เครื่องมือดิจิทัลของแพทย์ที่ได้กล่าวไปก่อนหน้านี้ ทำให้เกิดกระบวนการรักษาที่ครบวงจร เพราะผู้มีภาวะเบาหวานสามารถเข้าถึงบริการและดูแลตัวเองได้สะดวกสบาย ในขณะที่ข้อมูลของผู้มีภาวะเบาหวาน รวมทั้งอาการป่วยจากโรคอื่น ๆ และประวัติการรักษาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะถูกเก็บไว้ในระบบบันทึกแบบอิเล็กทรอนิกส์ของโรงพยาบาลซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการดูแลรักษาในลำดับต่อไป เนื่องจากผู้มีภาวะเบาหวานในประเทศไทยจำนวนมากได้รับการรักษาอันเนื่องมาจากภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวานด้วยเช่นกัน