New Issues » ชี้ COVID-19 เร่งธุรกิจเปิดรับการผสานเทคโนฯ หลายประเภท

ชี้ COVID-19 เร่งธุรกิจเปิดรับการผสานเทคโนฯ หลายประเภท

7 มกราคม 2021
0

 Newscurveonline.com : “บลูบิค” เผยสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 กลายเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจต้องเปิดรับการผสมผสานเทคโนโลยีหลายประเภทเข้ามาปรับใช้กับองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับเทคโนโลยีเดิม รวมทั้งเสริมศักยภาพในการบริหารธุรกิจท่ามกลางวิกฤติ แนะองค์กรพัฒนาบุคลากรปรับมุมมองให้พร้อมที่จะเปิดรับ-คิดค้น-ทดลองสิ่งใหม่ ๆ เพื่อรองรับการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยี

นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำด้านกลยุทธ์และการจัดการด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เปิดเผยว่า วิกฤติ COVID-19 ระบาดระลอกใหม่ กำลังเป็นตัวเร่งให้ธุรกิจต้องหาทางนำการผสมผสานเทคโนโลยีพื้นฐาน (Technology Convergence) มาประยุกต์ใช้กับองค์กร เพื่อเพิ่มศักยภาพการบริหารท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีหลากหลายประเภท ช่วยเพิ่มความสามารถในการเข้าถึง วิเคราะห์ข้อมูลและประสานงานระหว่างหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ทำให้ธุรกิจประเมินสถานการณ์ได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น

วิกฤติ COVID-19 สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจไม่สามารถพึ่งพาเทคโนโลยีประเภทเดียวในการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อการพาองค์กรให้รอดพ้นสถานการณ์วิกฤติ โดยองค์กรต้องผสมผสานเทคโนโลยีหลายประเภทให้สามารถดูแลจัดการอย่างรอบด้าน ทั้งในแง่การดูแลความปลอดภัยของพนักงาน กระบวนการดำเนินงาน การประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์ธุรกิจเพื่อเตรียมรับมือเหตุไม่คาดฝัน

จากสถานการณ์ COVID-19 ระบาดระลอกใหม่ องค์กรสามารถนำ Internet of Behaviors (IoB) ซึ่งเป็นการผสานรวมเทคโนโลยีบ่งชี้ตัวตนไว้ด้วยกัน เช่น การจดจำใบหน้า ติดตามตำแหน่ง และ Big Data Analytics ไปปรับใช้ในการตรวจจับอุณหภูมิ หรือวิเคราะห์พฤติกรรมเพื่อช่วยประเมินมาตรการดูแลความปลอดภัยให้กับพนักงาน ขณะที่การสร้าง Total Experience ซึ่งเป็นการรวบรวมประสบการณ์ลูกค้า (Customer Experience) ประสบการณ์ของพนักงาน (Employee Experience) และประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (User Experience) ผ่านเทคโนโลยี Touchless Interface เช่น การสร้างโมบายแอปพลิเคชันนัดหมายลูกค้าผ่านสมาร์ทโฟน มีระบบเช็กอินได้อัตโนมัติเมื่อลูกค้ามาถึง และส่งข้อความแจ้งพนักงานเพื่อให้พูดคุยกับลูกค้า จะสามารถช่วยลดการสัมผัส เพิ่มความคล่องตัวและความปลอดภัยในการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า

ในส่วนกระบวนการทำงาน การผสมผสานเทคโนโลยีคลาวด์และสถาปัตยกรรมแบบกระจาย (Distributed architecture) เข้ากับระบบการปฏิบัติงานขององค์กรจะทำให้การทำงานสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา พร้อมรองรับการขยายได้ทุกเมื่อ โดยที่ยังคงความปลอดภัยไว้อยู่ ขณะที่การวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ธุรกิจ การนำเทคโนโลยีการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning) มาผสมผสานกับเครื่องมือการทำงานแบบอัตโนมัติ (Automation tools) จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ข้อมูลเพื่อช่วยตัดสินใจทางธุรกิจให้เป็นไปแบบอัตโนมัติยิ่งขึ้น ส่วนการผสมผสาน DataOps และ MLOps ทำให้การใช้ Machine Learning ในธุรกิจเกิดขึ้นได้จริงและสามารถวัดผลได้และช่วยเสริมขีดความสามารถของ Machine Learning ในกระบวนการทางธุรกิจได้

นายพชร กล่าวด้วยว่า นอกจากการเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารงานเพื่อผ่านพ้นวิกฤติ การผสมผสานเทคโนโลยียังสร้างการเติบโตและเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน โดยที่ธุรกิจไม่จำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมา เนื่องจากจะสร้างรูปแบบการใช้งานใหม่ ๆ (Use Case) หรือเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เช่นกัน โดยการผสมผสานเทคโนโลยีดังกล่าวจะเป็นตัวกำหนดทิศทางของธุรกิจในอนาคต นำมาซึ่งการเติบโตของผลกำไรและเปิดทางไปสู่การสร้างสินค้า หรือบริการที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นับเป็นการเพิ่มคุณค่าที่จะส่งมอบให้กับลูกค้า

 

 

สำหรับเทคโนโลยีที่คาดว่าจะมีการนำมาใช้งานผสมผสานกัน ได้แก่

1.AR / VR และ 5G เป็นเทคโนโลยีที่มีการผสมผสานโลกจริงและโลกเสมือนด้วยการใช้ระบบซอฟต์แวร์และอุปกรณ์เชื่อมต่อต่าง ๆ เพื่อสร้างประสบการณ์แปลกใหม่ให้กับผู้ใช้งานและทำให้เกิดการตอบสนองต่อสิ่งจำลองนั้น ซึ่งถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายในธุรกิจ ส่วน 5G เป็นเทคโนโลยีเครือข่ายไร้สายที่ถูกนำมาใช้งานร่วมกับอุปกรณ์ทุกชนิดที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ โดยสามารถสั่งงานและควบคุมสิ่งต่าง ๆ ได้แบบเรียลไทม์ เนื่องจากมีความหน่วงที่ต่ำ ตอบสนองได้ไวถึง 1 ส่วนพันวินาที เนื่องจากมีความหน่วงที่ต่ำ ตอบสนองได้ไวถึง 1 ส่วนพันวินาที สามารถรองรับการรับ–ส่งข้อมูลได้มากกว่าและรวดเร็วกว่าเทคโนโลยี 4G ถึง 10 เท่า รวมถึงมีความทนทานต่อความเสียหายทางโครงข่าย (Network Fault Tolerance) มากกว่า 4G

ตัวอย่างน่าสนใจในการนำ AR / VR และ 5G มาใช้ผสมผสานกัน เช่น ในอุตสาหกรรมการแพทย์ที่ใช้สำหรับการผ่าตัดทางไกล ช่วยให้การผ่าตัดทำได้อย่างแม่นยำและช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ AR/VR ยังนำไปผนวกกับ Telemedicine หรือการแพทย์ทางไกล ทำให้กระบวนการตรวจรักษาและวินิจฉัยโรคของแพทย์เป็นไปอย่างเสมือนจริงยิ่งขึ้น

2.AI / Machine Learning (ML) และ Cloud Computing

AI คือชุดของโค้ด เทคนิค หรืออัลกอริทึม ที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์สามารถเลียนแบบ พัฒนาและแสดงพฤติกรรมของมนุษย์ได้ โดยจะมีหน่วย ML ซึ่งทำการฝึกให้อัลกอริทึมได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจ และตัดสินใจจากข้อมูลด้วยตนเอง ส่วน Cloud Computing คือระบบเก็บข้อมูลและประมวลผลระบบสารสนเทศบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งสามารถดึงข้อมูลออกมาใช้งานได้ตลอดเวลาผ่านระบบอินเทอร์เน็ต

สำหรับการนำ AI / Machine Learning (ML) และ Cloud Computing สามารถปรับใช้ได้กับหลากหลายภาคอุตสาหกรรม โดย AI สามารถเข้าไปดูแลจัดการระบบกระบวนการทำงานของธุรกิจและช่วยประมวลผลข้อมูล ทำให้ข้อมูลในระบบอัพเดทได้แบบเรียลไทม์ ง่ายต่อการนำไปใช้งานและประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจได้ดีขึ้น

3.Data Science และ Predictive Analytics

วิทยาการข้อมูล (Data Science) คือกระบวนการหาองค์ความรู้ใหม่จากข้อมูลมหาศาล เพื่อใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์และสร้างมูลค่าต่อธุรกิจหรือองค์กร ส่วนการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงทำนาย (Predictive Analytics) เป็นนำข้อมูลมาใช้ทำนายพฤติกรรมบางอย่างที่เกิดขึ้นจะในอนาคต จากการนำข้อมูลย้อนหลังมาประเมินความเสี่ยง ซึ่งจะทำให้สามารถช่วยในการตัดสินใจในทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น ผ่านการนำเทคนิคหลาย ๆ ด้านประกอบกัน เช่น หลักสถิติ การทำโมเดลวิเคราะห์ AI/Machine Learning (ML) และการทำเหมืองข้อมูล โดยปัจจุบัน Data Science และ Predictive Analytics มีการนำไปใช้งานในหลากหลายภาคอุตสาหกรรม เช่น ค้าปลีก การผลิต ประกันภัย ธนาคาร บริการทางสาธารณสุข และบริการสาธารณูปโภค เป็นต้น

4.Blockchain

บล็อกเชน (Blockchain) คือระบบโครงข่ายการเก็บข้อมูล (Database) แบบหนึ่ง มีลักษณะเป็นเครือข่ายใยแมงมุม ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึงและแชร์ข้อมูลดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องดำเนินการผ่านตัวกลาง ทำให้การทำธุรกรรมออนไลน์ต่าง ๆ มีความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย และเชื่อถือได้

สำหรับตัวอย่างการใช้ประยุกต์ใช้บล็อกเชนที่เห็นได้ชัดคือในภาคอุตสาหกรรมการเงิน-ธนาคารที่ผสมผสานบล็อกเชนเข้ากับ AI ซึ่งกลายเป็นจุดเริ่มต้นของระบบการเงินไร้ตัวกลาง (Decentralized Finance) และมีการพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้ระบบสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในกระบวนการซื้อขายและทำธุรกรรมทางการเงินบนโลกออนไลน์ โดยเมื่อขั้นตอนการดำเนินงานลดลง ส่งผลให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจลดลงตามไปด้วย อีกทั้งการตัดตัวกลางออกจากระบบยังช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องความไม่เชื่อมั่นในตัวกลางของผู้บริโภคไปพร้อม ๆ กัน

นายพชร ระบุว่า ธุรกิจหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการลงทุนเทคโนโลยีหลายอย่างพร้อม ๆ กัน ซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรเพื่อรับมือกับการขับเคลื่อนเทคโนโลยีขององค์กร ดังนี้

1.ตระหนักถึงปัญหาที่แท้จริงของธุรกิจ บุคลากรทุกฝ่ายในองค์กรต้องรับทราบและตระหนักถึงต้นตอของปัญหาที่ทำให้การดำเนินธุรกิจเกิดภาวะคอขวด (Bottleneck) หรือเติบโตช้า เพื่อให้สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องและตรงจุด

2.บุคลากรทุกคนต้องมีความเป็น R&D ในตนเอง คือมีทัศนคติที่พร้อมจะคิดค้นและทดลองสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยให้เกิดการวิเคราะห์ว่าแต่ละเทคโนโลยีมีจุดเด่น–จุดด้อยอย่างไร และเกิดการจินตนาการว่าการจับคู่ของเทคโนโลยีใดมีโอกาสทำให้ธุรกิจเกิด Use Case ใหม่ที่จะตอบสนองความต้องการของลูกค้า และประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา

3.ริเริ่มวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดโอกาสให้เกิดการทดลอง (Culture of Experimentation) เพื่อสร้างบรรยากาศในการคิดวิเคราะห์เชิงสร้างสรรค์ เกิดการลองผิดลองถูก และพร้อมที่จะเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงเปิดโอกาสให้ทุกคนในองค์กรได้นำเสนอความคิดด้านการปรับใช้เทคโนโลยีที่มีส่วนต่อการพัฒนาธุรกิจ

นายพชร กล่าวในตอนท้ายว่า บทเรียนสำคัญของภาคธุรกิจคงต้องเริ่มจากการปรับมุมมองว่าเทคโนโลยีพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว ก็สามารถเข้ามาเปลี่ยนแปลงและช่วยขยายโอกาสทางธุรกิจได้ แต่ต้องยอมรับว่าการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและการทำความเข้าใจเทคโนโลยีหลากหลายประเภทในเวลาสั้น ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น “บลูบิค” ในฐานะบริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีองค์ความรู้และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในการวางกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยี ที่จะช่วยมองหาโอกาสใหม่ ๆ ในการดำเนินธุรกิจและให้คำแนะนำด้านการลงทุนพัฒนาระบบ หรือแพลตฟอร์ม เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด นับเป็นทางลัดสำหรับธุรกิจยุคใหม่ที่ต้องการขับเคลื่อนองค์กรและสร้างการเติบโตด้วยเทคโนโลยี