Variety » เปิดตัวหนังสือ “แบบสำรวจรังวัดสถาปัตยกรรมวัดอรุณราชวรารามฯ” เล่ม 4

เปิดตัวหนังสือ “แบบสำรวจรังวัดสถาปัตยกรรมวัดอรุณราชวรารามฯ” เล่ม 4

3 เมษายน 2020
0

Newscurveonline.com : “อาคเนย์” กลุ่มธุรกิจประกันและการเงิน หนึ่งในกลุ่มธุรกิจหลักภายใต้บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) สืบสานมรดกวัฒนธรรม เปิดตัวหนังสือ “แบบสำรวจรังวัดสถาปัตยกรรม วัดอรุณราชวรารามฯ” ซึ่งเป็นหนังสือลำดับที่ 4 ในชุด“อัศจรรย์วัดอรุณฯ ” มีเนื้อหาเกี่ยวกับการสำรวจรังวัดและเขียนแบบรังวัดทางสถาปัตยกรรมของวัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร เป็น “พุทธสถาปัตยกรรมไทย” ชิ้นสำคัญที่สะท้อนถึงแนวคิดในการสร้างสรรค์สุนทรียศิลป์ที่ผนวกด้วยสัญลักษณ์และความหมายทางพุทธปรัชญา โดยมีหมู่องค์พระปรางค์ที่งดงามที่สุดในงานสถาปัตยกรรมไทย เป็นเอกลักษณ์ทางด้านศิลปวัฒนธรรมไทยที่มีความโดดเด่นวิจิตรงดงามจนนับเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์อันสำคัญของประเทศไทย

นายโชติพัฒน์ พีชานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “อาคเนย์” ได้จัดทำหนังสือ “แบบรังวัดสถาปัตยกรรมวัดอรุณราชวราราม เล่ม 4” ด้วยความตั้งใจอนุรักษ์สถาปัตยกรรมอันทรงคุณค่านี้ให้สมตามวัตถุประสงค์แรกเริ่มของการจัดทำหนังสือชุด “อัศจรรย์วัดอรุณฯ ” เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการบูรณะศิลปกรรมวัดอรุณฯ และสร้างประโยชน์ให้กับวงการศึกษา นักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ และบุคคลทั่วไปที่สนใจใช้ประโยชน์ในการค้นคว้าและอ้างอิง โดยได้มอบเงินบริจาคสมทบทุนทางการศึกษาด้านสถาปัตยกรรมไทยแก่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในการรวบรวมเนื้อหาและแบบที่เขียนด้วยมือทั้งหมดให้มาอยู่ในรูปแบบดิจิทัลฟอร์แมต หรือออโตแคด (AutoCAD) รวมทั้งมอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญเรียบเรียงเนื้อหาอย่างเหมาะสมและน่าสนใจ เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ด้านศิลปะสถาปัตยกรรม และร่วมกันสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของแผ่นดินให้คงอยู่ต่อไป

ด้าน นางอาทินันท์ พีชานนท์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารอาวุโส บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากจุดเริ่มต้นของความผูกพันกับองค์พระปรางค์แห่งวัดอรุณราชวรารามฯ อันเป็นตราสัญลักษณ์ประจำองค์กรนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมากว่า 73 ปี จึงเป็นที่มาให้ “อาคเนย์” ได้ริเริ่มจัดทำชุดหนังสือ “อัศจรรย์วัดอรุณฯ ” มาจนถึงเล่มที่ 4 ด้วยการรวบรวมองค์ความรู้มากมายที่เกี่ยวกับองค์พระปรางค์วัดอรุณฯ ซึ่งเนื้อหาค่อย ๆ เข้มข้น และมีความเฉพาะทางมากขึ้นจนมาสู่ “หนังสือแบบรังวัดสถาปัตยกรรมวัดอรุณราชวรารามฯ” เล่ม 4 นี้ โดยจุดเด่นคือ การนำเสนอเกี่ยวกับการสำรวจรังวัด ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างมิติทางเรขาคณิต ผ่านองค์ประกอบของเส้นสายในเชิงลวดลาย รูปแบบ รูปทรง ทำให้ได้แบบสถาปัตยกรรมซึ่งมีความสวยงามสมจริง ถ่ายทอดลงสู่แบบในกระดาษด้วยวิธีการอิงมาตราส่วนตามระบบสากล เกิดเป็นฐานข้อมูลสำคัญทางประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งในด้านการศึกษาสถาปัตยกรรม รวมถึงการบูรณปฏิสังขรณ์และการอนุรักษ์งานสถาปัตยกรรมของพระอารามแห่งนี้ต่อไปในอนาคต

หนังสือฯ เล่มนี้จัดทำสองภาษาทั้งไทยและอังกฤษ เพื่อให้ชาวต่างชาติสามารถชื่นชมในสถาปัตยกรรมไทยได้เช่นกัน  สำหรับชุดหนังสือ “อัศจรรย์วัดอรุณฯ ” เล่ม 1-4 มีจำหน่ายที่ร้านเอเชียบุ๊คส์ ร้านนายอินทร์ ร้าน The Gallery สาขาโรงแรม เดอะ ระวีกัลยา แบงค็อก และศูนย์หนังสือจุฬาฯ ซึ่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายบริษัทจะนำเข้ากองทุนอาคเนย์เพื่อบูรณปฏิสังขรณ์วัดอรุณฯ ต่อไป”

หนังสือ “แบบสำรวจรังวัดสถาปัตยกรรม วัดอรุณราชวรารามฯ” เล่ม 4  มีเนื้อหา 3 บท โดยสังเขป ดังนี้

บทที่ 1 สุนทรียสถาปัตยเรขาฯ พระพุทธปรางค์มหาธาตุ แห่งวัดอรุณราชวรารามฯ พระปรางค์ประธานวัดอรุณราชวรารามฯ เป็นพระปรางค์ทรงจอมแหที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ อันถือเป็นพัฒนาการครั้งสำคัญของสถาปัตยกรรมไทย ที่มีความโดดเด่นในการออกแบบ โดยแบบสำรวจรังวัดสถาปัตยกรรมวัดอรุณราชวรารามฯ เปิดเผยให้เห็นสัดส่วนอันแท้จริงของความงามที่ปรากฏขึ้นแก่สายตาในทัศนียภาพได้อย่างสมบูรณ์งดงาม

บทที่ 2 สถาปัตยกรรมสำคัญของวัดอรุณราชวรารามฯ อธิบายถึงสถาปัตยกรรมกลุ่มพระพุทธปรางค์ อาทิ วิหารน้อย โบสถ์น้อย ซุ้มประตูและกำแพงรั้วเหล็ก พระพุทธปรางค์ประธาน พระปรางค์ทิศ พระมณฑปทิศ สถาปัตยกรรมกลุ่มพระอุโบสถ อาทิ ประติมากรรมรูปยักษ์ ซุ้มประตูยอดมงกุฎ ศาลานายนก ศาลานายเรือง พระระเบียงคด พระอุโบสถ และพระวิหารหลวง

บทที่ 3 สำรวจรังวัดสถาปัตยกรรมวัดอรุณราชวรารามฯ นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับงานเขียนแบบสำรวจรังวัดสถาปัตยกรรมไทยที่สำคัญของชาติ รวมถึงการศึกษาวิเคราะห์ในเชิงวิชาการด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม ด้านโครงสร้างอาคารของสถาปัตยกรรม อาคารต่าง ๆ ของวัดอรุณราชวรารามฯ รวมถึงการสำรวจรังวัดและเขียนแบบขึ้นเพื่อจัดเก็บรวบรวมเป็นองค์ความรู้ทางการศึกษาสถาปัตยกรรมไทย ตลอดจนศิลปกรรมด้านต่าง ๆ ในอนาคต และเพื่อเป็นประโยชน์ในการอนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรมของวัดอรุณราชวรารามฯ ต่อไป