New Issues » “ทีเส็บ” ฉายภาพการดำเนินงานปี 63-64 สู้ COVID-19

“ทีเส็บ” ฉายภาพการดำเนินงานปี 63-64 สู้ COVID-19

7 ตุลาคม 2020
0

Newscurveonline.com : องค์กรต่าง ๆ ทางด้านการจัดประชุมและนิทรรศการระดับโลก ยกอุตสาหกรรมไมซ์ไทยอยู่ระดับแถวหน้าทั้งของอาเซียน เอเชีย เอเชียแปซิฟิก และระดับโลก แม้ COVID-19 จะพ่นพิษ ส่งผลพวงผู้เข้าร่วมกิจกรรมไมซ์ทุกประเภทในปีงบประมาณ 2563 ลดฮวบ 60% มีนักเดินทางรวม 10.45 ล้านคน พร้อมรายได้ 6.13 ล้านบาท ด้าน “ทีเส็บ” เตรียม 4 กลยุทธ์ภายใต้แนวคิด “ไมซ์วิถีใหม่ เติบโตอย่างยั่งยืน” ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในปีงบประมาณ 2564 มั่นใจเป็นกลไกสำคัญช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน และสร้างรายได้ให้ประเทศ

 

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ “ทีเส็บ” เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2563 ประเทศไทยมีนักเดินทางไมซ์รวมทั้งสิ้น 10,456,899 คน สร้างรายได้ 61,317 ล้านบาท เป็นนักเดินทางไมซ์ต่างชาติ 500,090 คน สร้างรายได้ 29,819 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มประชุมองค์กร จำนวน 149,638 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำรายได้สูงสุด 9,414 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มประชุมวิชาชีพ จำนวน 139,639 คน รายได้ 8,317 ล้านบาท กลุ่มการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล จำนวน 122,102 คน รายได้ 5,624 ล้านบาท และกลุ่มงานแสดงสินค้า จำนวน 88,711 คน รายได้ 6,464 ล้านบาท

ด้านนักเดินทางไมซ์ในประเทศ มีจำนวนรวม 9,956,809 คน สร้างรายได้ 31,49

8 ล้านบาท มีกลุ่มงานแสดงสินค้าเป็นตลาดใหญ่ที่สุดจำนวน 7,900,843 คน สร้างรายได้ 26,452 ล้านบาท รองลงมาคือ กลุ่มประชุมวิชาชีพ จำนวน 1,350,609 คน รายได้ 3,016 ล้านบาท กลุ่มประชุมองค์กร จำนวน 604,246 คน รายได้ 1,501 ล้านบาท และกลุ่มการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล จำนวน 101,111 คน ทำรายได้ 529 ล้านบาท

“ในส่วนของการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมไมซ์ไทย ประมาณการได้ว่าตลอดปีงบประมาณ 2563 อุตสาหกรรมไมซ์ทั้งตลาดในและต่างประเทศก่อให้เกิดการใช้จ่ายจากการจัดกิจกรรมไมซ์รวมมูลค่ากว่า 165,823 ล้านบาท ก่อให้เกิดเป็นรายได้ประชาชาติรวมมูลค่า 162,976.01 ล้านบาท ภาครัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้จากการจัดกิจกรรมไมซ์ 11,590 ล้านบาท และก่อให้เกิดการจ้างแรงงานไมซ์เพื่อการจัดงาน 95,314 อัตรา”

  • ทั่วโลกยอมรับอุตสาหกรรมไมซ์ไทย

นายจิรุตถ์ กล่าวอีกว่า อันดับ จากการจัดอันดับอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในเวทีโลกโดยองค์กรต่าง ๆ ทางด้านการจัดประชุมและนิทรรศการระดับโลก ระบุว่า ธุรกิจงานแสดงสินค้านานาชาติในไทยมีมูลค่าต่อ GDP สูงเป็นอันดับที่ 26 ของโลก และอันดับที่ 8 ของเอเชีย โดยประเทศไทยถูกจัดเป็นจุดหมายปลายทางของการจัดกิจกรรมไมซ์ อันดับที่ 2 ของโลก ทั้งยังมีแนวโน้มของการจัดงานประชุมที่ใช้นวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์เป็นอันดับที่ 4 ของเอเชียและเแปซิฟิก ขณะเดียวกันยังมียอดพื้นที่จัดงานแสดงสินค้านานาชาติอยู่ในอันดับที่ 1 ของอาเซียน โดยมีจำนวนของการจัดประชุมนานาชาติอันดับที่ 27 ของโลก และอันดับที่ 5 ของเอเชีย ขณะที่ กรุงเทพมหานคร ถูกจัดอันดับเป็นเมืองที่ดึงดูดนักเดินทางธุรกิจมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ของเอเชีย โดย “ทีเส็บ” ถือเป็น CVB (Convention & Visitors Bureau) อันดับ 1 ที่ได้คะแนน Destination Management Performance สูงสุดในเอเชีย

  • พร้อมจัดทำข้อตกลงพิเศษด้านการเดินทางเฉพาะกลุ่ม “จีน – ญี่ปุ่น – เกาหลีใต้ – ไต้หวัน”

นายจิรุตถ์ ยังเปิดเผยอีกว่า ในส่วนของแผนการดำเนินงานปี 2564 “ทีเส็บ” ได้นำปัจจัยเกี่ยวกับสถานการณ์ COVID-19 และผลกระทบต่าง ๆ มาเป็นประเด็นสำคัญ จนนำมาสู่แนวทางหลักที่ “ทีเส็บ” ต้องการให้ผู้ประกอบการสามารถพลิกฟื้นธุรกิจได้ ขณะเดียวกันก็ต้องการใช้เป็นโอกาสที่จะยกระดับมาตรฐานไมซ์ของไทยให้โดดเด่นขึ้นหลังเหตุการณ์การระบาดของโรค COVID-19

การระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการจัดกิจกรรมไมซ์ในประเทศไทย ทำให้ในภาพรวมจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมไมซ์ทุกประเภทในปีงบประมาณ 2563 ลดลงกว่าร้อยละ 60 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม “ทีเส็บ” ได้เตรียมแนวปฏิบัติด้านความปลอดภัยและสุขอนามัย พร้อมประสานกับ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ในการจัดทำข้อตกลงพิเศษด้านการเดินทางเฉพาะกลุ่ม (Special Arrangement) สำหรับนักเดินทางไมซ์ 4 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน

  • ขับเคลื่อน “ประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า” กระตุ้นตลาดในประเทศ

นายจิรุตถ์ กล่าวว่า จากสภาพการณ์ดังกล่าวผนวกกับความไม่แน่นอนของผลกระทบจาก COVID-19 “ทีเส็บ” จึงวางกลยุทธ์ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในปีงบประมาณ 2564 ด้วยแนวคิด “ไมซ์วิถีใหม่ เติบโตอย่างยั่งยืน” มุ่งส่งเสริมการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ และสร้างความเข้มแข็งจากภายในผ่าน 4 แนวทางหลัก คือ การกระตุ้นตลาดในประเทศ การดึงงานนานาชาติ การขับเคลื่อนไมซ์ด้วยนวัตกรรม และการพัฒนาระบบนิเวศไมซ์ไทย เพื่อส่งเสริมและสร้างโอกาสในการพลิกฟื้นอุตสาหกรรมไมซ์ไทยกลับมาให้ได้เร็วที่สุด

ในส่วนของการกระตุ้นตลาดในประเทศจะมุ่งเน้นกระจายงานสู่ภูมิภาคทั่วประเทศ โดยทำงานร่วมกับภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่น และชาวบ้าน พร้อมกับยกระดับการจัดงานไมซ์ในภูมิภาคให้เป็นงานระดับประเทศ โดยใช้องค์ประกอบต่าง ๆ ของชุมชน หรือท้องถิ่นเป็นอัตลักษณ์จุดขายของจุดหมายปลายทาง โดย “ทีเส็บ” จะเร่งกระตุ้นการจัดงานในประเทศทั่วไทย ให้มีการเดินทางโดยเร็วที่สุดภายในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2564 (ตุลาคม – ธันวาคม 2563) โดยแพ็คเกจสนับสนุนหลักในการกระตุ้นการจัดงานไมซ์ในประเทศคือ การสานต่อ “ประชุมเมืองไทย ปลอดภัยกว่า” ด้วยการใช้งบประมาณเพิ่มเติมอีก 10 ล้านบาท เพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐและเอกชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจและกระจายรายได้ไปยังชุมชนในภูมิภาคต่าง ๆ ผ่านการจัดประชุมสัมมนาในประเทศ โดยสนับสนุนงบประมาณให้แก่องค์กร บริษัท และผู้ประกอบการไมซ์ที่มีแผนจะจัดประชุม (Meetings) การเดินทางเพื่อเป็นรางวัล (Incentives) งานสัมมนา (Seminars) การอบรม (Training) กิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) กิจกรรมพนักงานสัมพันธ์ (Outing) หรือกิจกรรมอื่น ๆ ที่ใช้สถานที่ในประเทศภายในเดือนธันวาคม 2563 ขณะเดียวกัน “ทีเส็บ” ยังพร้อมขับเคลื่อนงานแสดงสินค้าในประเทศควบคู่กันไป ผ่านโครงการบูรณาการร่วมมือภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐเอกชน หรือที่เรียกว่า “Empower Thailand Exhibition” (EMTEX) ตลอดปี 2564

  • เตรียมแผนเพิ่มตัวแทนการตลาดต่างประเทศภายใต้แคมเปญ ”THAILAND LOG-IN EVENTS”

ส่วนการเตรียมดึงงานนานาชาติ “ทีเส็บ” มุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ผ่านเวทีการจัดงานแสดงสินค้าเจาะรายอุตสาหกรรม โดยเริ่มจากการจัดทำแผนแม่บทงานแสดงสินค้านานาชาติ ภายใต้แคมเปญ ”THAILAND LOG-IN EVENTS” (ไทยแลนด์ ล็อก-อิน อีเวนต์) เป็นกลยุทธ์ขับเคลื่อนและส่งเสริมงานแสดงสินค้านานาชาติในกลุ่มลอจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน (Logistic & Infrastructure) ตอบโจทย์แนวทางโครงการแผนพัฒนาประเทศระดับมหภาคของรัฐบาล เพื่อกระตุ้นให้ทั้งภาครัฐและเอกชนสร้างงานใหม่ ขยายงานเดิม กระจายงานสู่ภูมิภาค และประมูลสิทธิ์การจัดงานระดับโลกเข้ามาจัดในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

นอกจากนี้ “ทีเส็บ” ยังเตรียมเปิดตัวแนวคิด “FESTIVAL ECONOMY” (เฟสติวัล อีโคโนมี) การสร้างมรดกทางเศรษฐกิจด้วยการจัดงานเทศกาล โดยส่งเสริมการจัดงานเทศกาลกระจายไปทั่วทุกภูมิภาค เพื่อสร้างมูลค่าและการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้กับพื้นที่และจังหวัดต่าง ๆ พร้อมเตรียมแผนการเจาะดึงงานไมซ์ในตลาดต่างประเทศผ่านตัวแทนการตลาดใน 7 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย อังกฤษ ยุโรป และอเมริกาเหนือ ทั้งยังจะศึกษาตัวแทนตลาดในประเทศใหม่ ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย

  • สนับสนุนการใช้นวัตกรรม VMS จัดงาน

ขณะที่ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม “ทีเส็บ” จะมีมาตรการช่วยเหลือ สนับสนุน และฟื้นฟูอุตสาหกรรมไมซ์ให้สามารถผ่านพ้นวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้ โดยเฉพาะการพัฒนาการจัดงานรูปแบบออนไลน์ (Online) และรูปแบบผสมผสาน (Hybrid) ดังจะเห็นได้ว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ 2563 เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เริ่มผ่อนคลาย อุตสาหกรรมไมซ์ในประเทศก็เริ่มคึกคักขึ้นเพราะ “ทีเส็บ” มีมาตรการต่าง ๆ กระตุ้นการจัดงาน ขณะที่ผู้จัดงานต่างมีความพร้อมมากขึ้น โดยพบว่างานที่จัดนั้นมีผู้เข้าร่วมแบบออนไลน์ 55.4% หรือจำนวน 375,094 คน และออฟไลน์ 44.6% หรือจำนวน 302,312 คน

สำหรับในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2564 “ทีเส็บ” เตรียมสนับสนุนการใช้ Virtual Meeting Space (VMS) แพลตฟอร์ม หรือการส่งเสริมการจัดประชุมและงานแสดงสินค้าออนไลน์ ประกอบด้วยการจัดแสดงสินค้าผ่านระบบออนไลน์ (Offline to Online – O2O) และการประชุมสัมมนาเสมือนจริงผ่านระบบออนไลน์ (Webinar) รวมจำนวน 8 งาน ได้แก่ Thailand Dive Expo (TDEX) งานมหกรรมดำน้ำ, Intercare Asia 2020 งานแสดงสินค้าเทคโนโลยี นวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ, Coffee and Bakery Fair 2020 งานแสดงสินค้ากาแฟ และเบเกอรี่, Khon Kaen International Motor Expo งานขอนแก่นมอเตอร์โชว์, Chiang Mai Design Week เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่, Global Running Summit การประชุมงานวิ่งมาราธอนระดับโลก, ISURA 2020 Bangkok การประชุมวิชาการทางการแพทย์ด้านวิสัญญี, และ AHC 2020 การประชุมวิชาการพืชสวนแห่งเอเชีย

  • เร่งพัฒนา One-Stop Service Center for MICE

ทางด้านการพัฒนาระบบนิเวศไมซ์ไทย “ทีเส็บ” วางแผนจัดตั้งศูนย์ประสานการอำนวยความสะดวกธุรกิจไมซ์ (One-Stop Service Center for MICE) เพื่อให้บริการข้อมูลและคำปรึกษาในการจัดงานเชื่อมโยงธุรกิจครบวงจรด้วยระบบดิจิทัล บูรณาการเพื่ออำนวยความสะดวกด้านกฎระเบียบและมาตรการส่งเสริมธุรกิจไมซ์ รวมทั้งการประสานงานให้บริการจัดงานไมซ์ให้กับหน่วยงานรัฐ นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงการพัฒนาการให้บริการไมซ์เลน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักเดินทางไมซ์ที่เข้ามายังประเทศไทยทั้งในเรื่องของพิธีการตรวจคนเข้าเมือง บริการ Fast Track, Visa on Arrival และการดูแลด้านสุขอนามัย

“ในปีงบประมาณ 2564 คาดว่าอุตสาหกรรมไมซ์จะเติบโตประมาณ 3.5% โดยภายในสิ้นเดือนธันวาคม 2563 มีจำนวนงานที่ ทีเส็บ ให้การสนับสนุนแล้วประมาณ 70 งาน จึงนับว่าอุตสาหกรรมไมซ์เป็นกลไกสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน และสร้างรายได้ให้ประเทศ ซึ่งภาคีทุกฝ่ายทั้งรัฐและเอกชนมีความร่วมมือกันอย่างดีเยี่ยม” นายจิรุตถ์ กล่าวในที่สุด