Most Recent » ระวังภัย COVID-19 เหนือกว่าความตระหนัก คือ “สำนึกของใคร?”

ระวังภัย COVID-19 เหนือกว่าความตระหนัก คือ “สำนึกของใคร?”

2 มีนาคม 2020
0

Newscurveonline.com : อุทาหรณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นสำหรับสังคมไทยต่อภัยร้าย COVID-19 ซึ่งผันแปร “ความตระหนัก” ของผู้คนจนกลายเป็น “ความตระหนก” คือ การปกปิดข้อมูลการเดินทางของผู้สูงวัยคู่หนึ่งที่เดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นซึ่งถือเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยได้เดินทางกลับมายังประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 ก.พ.63 และมีอาการไข้ก่อนเข้ารับการรักษาพยาบาลแต่ปกปิดข้อมูล จนในที่สุดแพทย์ได้ตรวจพบเชื้อ COVID-19 เมื่อวันที่ 24 ก.พ.63 นั้น

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ากรณีดังกล่าวทำให้ผู้คนในสังคมไทยต่าง “ตื่นตระหนก” ว่าผู้สูงวัยคู่นั้นจะเป็น “Super Spreader” ซึ่งสามารถแพร่เชื้อโรคไปยังบุคคลอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมาก จึงเป็นเหตุให้ทันทีที่ทุกฝ่ายทราบผลการวินิจฉัยจำเป็นต้องกักบริเวณเพื่อเฝ้าระวังอาการผู้เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่หลานชายวัย 8 ปีที่แม้ไม่ได้เดินทางไปประเทศญี่ปุ่นด้วย แต่โดยเหตุที่ใช้ชีวิตประจำวันใกล้ชิดกับคุณปู่คุณย่า จึงทำให้ต้องติดเชื้อไปโดยปริยาย นั่นจึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการสั่งปิดโรงเรียนที่หลานชายเรียนเพื่อทำความสะอาดโรงเรียนด้วยการพ่นยาฆ่าเชื้อ พร้อมกันนั้น ยังต้องเฝ้าระวังอาการเพื่อนร่วมชั้นเรียนของหลานชายอีกประมาณ 50 คน

นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล บี.แคร์เมดิคอลเซ็นเตอร์ ดอนเมือง อีกประมาณ 30-40 คน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตรวจรักษาผู้สูงวัยคู่นั้นยังต้อง “พลอยฟ้าพลอยฝน” ถูกพักงานเพื่อเฝ้าสังเกตอาการ พร้อมกับมีการเรียกผู้ร่วมเที่ยวบินสายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ เที่ยวบินที่ XJ 621 “ซัปโปโร-กรุงเทพฯ” มาตรวจอย่างละเอียด ขณะเดียวกัน ธนาคารธนชาต จำกัด (มหาชน) สาขาดอนเมือง ซึ่งบุตรชายของผู้สูงวัยคู่นั้นยังต้องปิดทำการชั่วคราวเพื่อทำความสะอาดพื้นที่ด้วย

หาก “การปกปิดข้อมูล” ของผู้สูงวัยคู่นี้เป็นสิ่งสร้างความหวาดระแวงให้ผู้คนในสังคม ในอีกด้านหนึ่งกลับมีเรื่องน่าชื่นชมจาก “การเปิดเผยข้อมูล” ของสุภาพสตรีสาวรายหนึ่งที่เดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ในช่วงระหว่างวันที่ 14-19 ก.พ.63 ซึ่งเป็นช่วงเวลาคาบเกี่ยวที่ กระทรวงสาธารณสุข ประกาศว่า ประเทศญี่ปุ่นอยู่ในพื้นที่เสี่ยงระดับ 3 ถ้าไม่จำเป็นขอให้งดการเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่นนั้น

เธอเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 25 ก.พ.63 ว่า เธอมีอาการไข้สูง 37.5 องศาเซลเซียส เมื่อวันที่ 23 ก.พ.63 และเข้ารับการรักษาตามสิทธิประกันสังคม ณ โรงพยาบาลแพทย์รังสิต 2 ซึ่งเธอได้รับการซักประวัติ ตรวจคัดกรอง และดูแลรักษาอย่างดี พร้อมกับได้รับการแอดมิดเพื่อเฝ้าระวังอาการเป็นเวลา 1 คืน ก่อนได้รับการวินิจฉัยว่าปลอดภัยจากเชื้อไวรัส COVID-19 พร้อมได้รับอนุญาตให้กลับบ้าน แต่เธอยังคงแสดงความรับผิดชอบว่าจะเฝ้าระวังอาการตัวเองที่บ้านเป็นเวลา 14 วันเพื่อให้มีความปลอดภัย 100%

เธอยังให้ข้อมูลด้วยว่า หากผู้ป่วยรายใดไม่มีอาการสุ่มเสี่ยงว่าจะติดเชื้อ COVID-19 แม้ว่าจะเดินทางไปกลุ่มประเทศพื้นที่เสี่ยง หรืออยากตรวจเพื่อความสบายใจ สิทธิประกันสังคมจะไม่ครอบคลุม จึงต้องเสียค่าใช้จ่ายเองประมาณ 7-8 พันบาท (ไม่รวมค่าห้องที่ต้องนอนรอผล ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาล)

แม้สองกรณีข้างต้นดูจะมีความแตกต่างอย่างชัดเจน แต่อาจเทียบไม่ได้กับกรณีสุดท้าย !

นางสาวแอ๊นท์ (นามสมมติ) วัย 35 ปี เดินทางไปท่องเที่ยวเมืองซัปโปโร ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 9-13 ก.พ.63 เมื่อกลับมาถึงประเทศไทยเริ่มมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว มีน้ำมูก พร้อมอาการไอ จาม จนถึงวันที่ 17 ก.พ.63 จึงไปใช้สิทธิประกันสังคม ณ โรงพยาบาล บี.แคร์เมดิคอลเซ็นเตอร์ ดอนเมือง พร้อมแจ้งว่า “เธอเพิ่งกลับจากประเทศญี่ปุ่น” แต่เมื่อผ่านจุดคัดกรองปรากฏว่าเธอมีไข้เพียง 37.3 องศาเซลเซียส จึงได้รับการตรวจรักษาเบื้องต้นเพียงการตรวจลำคอ ก่อนที่นายแพทย์จะให้ยาพาราเซตามอล ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ยาอมแก้เจ็บคอ และยาแก้ไอ โดยไม่ได้รับคำแนะนำอื่นใดแม้แต่น้อย

แต่ปรากฏว่าเวลาผ่านอีก 7 วัน เมื่อถึงวันที่ 23 ก.พ.63 อาการเธอยังไม่ดีขึ้นจึงกลับไปรับการตรวจรักษาอีกครั้งหนึ่งซึ่งแม้เธอจะยังคง “แสดงความจริงใจ” ด้วยการแจ้งซ้ำว่าเพิ่งเดินทางกลับจากประเทศญี่ปุ่น แต่ด้วยเหตุที่เธอมีไข้ไม่สูงมากนัก นายแพทย์จึงทำได้แต่เพียงใช้เครื่องฟังเสียงหัวใจ พร้อมจ่ายยาแก้แพ้ ยาแก้หูอื้อ ยาลดน้ำมูก และยาแก้ไอ เช่นเดิม !

กระนั้นก็ตาม นางสาวแอ๊นท์ เปิดเผยถึงความรู้สึกว่า หากในสถานการณ์ปรกติเธอจะไม่วิตกกับอาการเจ็บป่วยของเธอแม้แต่น้อย แต่ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้เธอไม่มั่นใจในการดำรงชีวิตประจำวัน เพราะไม่มีใครบอกเธอได้ว่าเธอเป็นอะไรกันแน่ ระหว่างไข้หวัดเรื้อรัง หรืออาการติดเชื้อ COVID-19 จนทำให้เธอเกิดอาการอุปาทานและส่งผลต่อสุขภาพจิตไปโดยปริยาย เธอยังย้ำด้วยว่าหากโรงพยาบาลต้องการให้เธอชำระค่าใช้จ่ายในการตรวจเชื้อ COVID-19 เธอก็ยินดีและพร้อมที่จะเสียค่าใช้จ่ายนอกสิทธิประกันสังคม แต่หลังจากที่ไปพบแพทย์ถึง 2 ครั้งกลับไม่ได้รับคำแนะนำใด ๆ แม้แต่น้อย

กรณีนี้จึงถือเป็นเสียงเพรียกของผู้ป่วยที่น่ากระตุกให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องฉุกคิดถึง “สิทธิผู้ป่วย” และ “มาตรฐานการรักษาพยาบาล” กันบ้าง

เหนือสิ่งอื่นใดในขณะที่สังคมไทยอาจเห็นใจเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล บี.แคร์เมดิคอลเซ็นเตอร์ ดอนเมือง ประมาณ 30-40 คน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการตรวจรักษาสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีผู้สูงวัยคู่ที่ปกปิดการเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น จนมีโอกาสแทบจะกลายเป็น “Super Spreader”

ในทำนองกลับกัน หาก นางสาวแอ๊นท์ ติดเชื้อ COVID-19 จริง ๆ จะมีเจ้าหน้าที่และบุคลากรทางการแพทย์กี่รายที่ต้องพลอยติดร่างแหไปด้วย!

มิพักต้องนับถึงชีวิตประจำวันของ นางสาวแอ๊นท์ ซึ่งมีที่พักย่านรังสิต แต่ต้องใช้รถตู้โดยสารสาธารณะเดินทางไปยังสถานที่ทำงานย่านรามคำแหง พร้อมกับไปมหาวิทยาลัยย่านลาดพร้าว รวมถึงต้องเดินทางไปสถานที่สาธารณะต่าง ๆ อีกนับไม่ถ้วน

จนถึงวันนี้แม้เวลาได้ล่วงผ่านมากว่า 20 วันแล้ว โดย นางสาวแอ๊นท์ ไม่ได้มีอาการบ่งชี้ใด ๆ แสดงออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน โดยทั้งตัวเธอและสถานที่ทำงานเธอต่างร่วมกันแสดงความรับผิดชอบในการให้เธอเฝ้าระวังตัวเองและดูอาการเบื้องต้นเป็นเวลา 14 วัน พร้อมทั้งยังคงสวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคซึ่งไม่มีผู้บ่งชี้

ทว่า จากความเห็นของ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ และผู้เชี่ยวชาญอายุรกรรมประสาทและสมอง คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า ในขั้นตอนแรกของการติดเขื้อ COVID-19 นั้น นอกจากผู้ป่วยจะไม่แสดงอาการแล้ว บางครั้งยังตรวจหาได้ยาก เช่น กรณีผู้ป่วยรายหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีเชื้อ COVID-19 ไปยังปอด ทำให้ไม่มีอาการไอ หรือเจ็บคอ แต่เมื่อตรวจน้ำโพรงจมูกและคอจึงให้ผลลบถึง 2 ครั้ง แพทย์จึงทำ BAL สอดท่อเอาน้ำล้างปอดมาตรวจและพบเชื้อในที่สุด

จึงได้แต่ภาวนาและหวังว่า นางสาวแอ๊นท์ จะโชคดี ปลอดเชื้อ COVID-19

หาไม่แล้ว กรณีนี้คงจะ “ดรามา” จนยากที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะรับมือก็เป็นได้ !