Newscurveonline.com : โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท ซินเจนทา ครอป โปรเทคชั่น จำกัด ร่วมมือพัฒนาโครงการ “รักษ์ผึ้ง” (Bee love project) บนพื้นที่เกือบ 20 ไร่ เน้นการศึกษา วิจัยและพัฒนา เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของผึ้งและแมลงผสมเกสร หวังเป็นศูนย์เรียนรู้เรื่องธรรมชาติของชุมชน และขยายเป็นแหล่งท่องเที่ยงเชิงนิเวศในอนาคต
เมื่อเร็ว ๆ นี้ แพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี ฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ รศ.ดร.จรูญโรจน์ โชติวิวัฒนกุล ฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา กับ นายธนัษ อภินิเวศ ผู้อำนวยการ และนางสาววัชรีภรณ์ พันธ์ภูมิพฤกษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน “ซินเจนทา” โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ ณ โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของผึ้งและแมลงผสมเกสร ส่งเสริมนักศึกษาและชุมชนให้มีส่วนร่วมในการสร้างแหล่งที่อยู่อาศัยผึ้ง ชันโรง และแมลงผสมเกสร โดยมีระยะเวลาดำเนินการร่วมกัน 3 ปี
แพทย์หญิงมนทกานติ์ โอประเสริฐสวัสดิ์ รักษาการแทนรองอธิการบดี ฝ่ายโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า หนึ่งในแนวคิดสำคัญของรูปแบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยเฉพาะในหลักสูตรเกษตรกรปราดเปรื่อง หรือ Smart Farmer นั่นคือ “ผลิตได้ ขายเป็น ปลอดภัย และยั่งยืน” ซึ่งสอดคล้องกับพันธกิจของโครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ที่ต้องการสร้างความเป็นเลิศทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร สิ่งแวดล้อมและฐานทรัพยากร โดยความร่วมมือครั้งนี้ ไม่เพียงจะช่วยให้กลุ่มเป้าหมายได้มีโอกาสเรียนรู้ พัฒนา และปฏิบัติจริง ก่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผึ้งและแมลงผสมเกสร มีผลผลิตที่ปลอดภัย ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แต่จะเป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรม ผลการวิจัยใหม่ ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการวิจัย ไปใช้ประโยชน์ในเชิงนโยบายและสาธารณะได้ต่อไป
“องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้ชี้แจงว่าร้อยละ 75 ของพืชผลบนโลกที่มนุษย์นำมาบริโภคนั้น เกิดจาการผสมเกสรของผึ้ง จึงเป็นหน้าที่ของประชาคมโลกที่จะต้องหันมาสนใจปกป้องและอนุรักษ์ผึ้ง”
รศ.ดร.จรูญโรจน์ โชติวิวัฒนกุล กล่าวเสริมว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญของการทำการเกษตรในปัจจุบันคือ สภาวะโลกร้อน สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ทำให้มีผลต่อความหลากหลายทางชีวิภาพ รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ เช่น การใช้สารกำจัดศัตรูพืชอย่างไม่ถูกต้องและเกินความจำเป็น การเกิดโรคไวรัสในผึ้ง ปัจจัยเหล่าทำให้เกิดผลกระทบกับผึ้งและแมลงผสมเกสร โครงการ “รักษ์ผึ้ง” จึงเป็นการดำเนินงานที่บูรณาการองค์ความรู้อย่างรอบด้าน เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยภาคเกษตรกรรม และสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันของทุกภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อาจารย์สิทธิพงษ์ วงศ์วิลาศ นักวิชาการศึกษา โครงการจัดตั้งวิทยาเขตนครสวรรค์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้ร่วมรับผิดชอบโครงการ กล่าวสรุปแผนการดำเนินงานของสองกลุ่มเป้าหมายหลัก ประการแรกคือ การพัฒนาพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ของมหาวิทยาลัยมหิดล นครสวรรค์ ให้เป็นศูนย์เรียนรู้ บูรณาการองค์ความรู้อย่างรอบด้านเข้าไปในหลักสูตรการเรียนและการสอน ทั้งในด้านการเลี้ยง การเพิ่มผลผลิต การแปรรูปจากผลผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ ยังมีแผนจัดกิจกรรมอบรมและค่ายความรู้ความหลากหลายทางชีวภาพให้แก่กลุ่มชุมชนและนักเรียนที่สนใจได้เข้ามาศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาโครงการ พัฒนาองค์ความรู้เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ โดยในอนาคตจะสร้างพื้นที่นี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของจังหวัดนครสวรรค์ ประการที่สองคือ มุ่งเน้นให้ความรู้ แนวทางการปฏิบัติ สร้างเครือข่ายเกษตรกรกับผู้เลี้ยงผึ้ง ปลุกจิตสำนึกในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้อง และเหมาะสม เพื่อลดอัตราการสูญเสียของผึ้ง และ แมลงผสมเกสร เพื่อให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่ม มีมูลค่าจากการเลี้ยงผึ้งเพิ่มมากขึ้น
ด้าน นางสาววัชรีภรณ์ พันธ์ภูมิพฤกษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายความยั่งยืน “ซินเจนทา” กล่าวว่า โครงการ “รักษ์ผึ้ง” เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญของ “ซินเจนทา” ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ โดยจะนำนวัตกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์การเกษตร มาร่วมวิจัย เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง เกษตรกรชาวสวนผลไม้ อุตสาหกรรมจากผึ้ง และคนในชุมชนดำเนินงานร่วมกันได้อย่างยั่งยืน เกิดการพึ่งพาและเอื้อประโยชน์ต่อกัน รวมทั้งเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกร โดยอาศัยผึ้ง ชันโรง และแมลงผสมเกสร นับเป็นการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพที่ยั่งยืนอีกด้วย
เกษตรกร นักเรียนและนักศึกษาที่ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมหรือสนใจเข้าร่วมโครงการรักษ์ผึ้ง ติดต่อได้ที่ โทร.08 8445 6406 หรือ https://na.mahidol.ac.th/academic/