etc. » “ใครว่า SANDBOX มีแต่ในซีรีส์เกาหลี” ม.เทคโนโลยีสุรนารี จับมือ TCELS ปล่อยของบนเวทีอินเตอร์ ส่งนักวิทยาศาสตร์ไทยสู่สมรภูมิ START-UP

“ใครว่า SANDBOX มีแต่ในซีรีส์เกาหลี” ม.เทคโนโลยีสุรนารี จับมือ TCELS ปล่อยของบนเวทีอินเตอร์ ส่งนักวิทยาศาสตร์ไทยสู่สมรภูมิ START-UP

7 ธันวาคม 2020
0

Newscurveonline.com : ซีรีส์ที่ปลุกไฟฝัน สร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ช่วงนี้คงหนีไม่พ้น เรื่อง START-UP ซึ่งรู้หรือไม่ว่าในประเทศไทยเองก็มีสถานที่ที่เหมือน SANDBOX แหล่งบ่มเพาะคนรุ่นใหม่ที่คนมีความสามารถมากมายได้อวดศักยภาพ และพิเศษกว่านั้นคือ นวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นไม่ได้เฉพาะด้าน IT เท่านั้น แต่คือการผสมผสานองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ที่นำเอาเทคโนโลยี ผสานเคมี ฟิสิกส์ ชีวะ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ สุขภาพ ที่ในอนาคตจะไม่ใช่แค่พัฒนาคุณภาพชีวิตแต่ว่าจะกลายเป็นไลฟ์สไตล์!

…และที่นั่นคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี!

ใครที่ชมเรื่อง START-UP แล้วคงเห็นความพยายามของทีมพระเอกนักพัฒนาซอฟต์แวร์อนาคตไกลที่ก่อตั้งบริษัทมาแล้วถึง 2 ปี แต่ก็ไปไม่ถึงไหน พยายามสร้างชื่อด้วยการส่งผลงานจนชนะเลิศระดับโลก แต่เมื่อต้องนำเสนองานกับนักลงทุนก็กลับไม่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่ทีมถนัดคือการเป็นนักประดิษฐ์ แต่ไม่ถนัดด้านการสื่อสาร และทางออกคือพวกเขาต้องหา “คนตรงกลาง” หรือ “นักบริหาร” (CEO) ที่จะเป็นคนพาข้อมูลอรรถประโยชน์ของนวัตกรรมมาสื่อสารให้นักลงทุนเข้าใจ การมี Mentor ที่อ่านเกมขาด คอยปลุกปั้นทีม Start up ให้ผ่านในแต่ละด่านได้ และนี่คือสิ่งที่เรามองเห็นใน นโยบาย “SUT Re-profile 2020” ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อให้มหาวิทยาลัยสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในยุค Disruptive Technology และพร้อมก้าวสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ” ที่แท้จริง

ผู้เปิดสนามเด็กเล่น : “เตรียมกระบะทราย และให้โอกาส”

รองศาสตราจารย์ ดร.อนันต์ ทองระอา รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสุนารี กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยการนำของท่านอธิการบดี รองศาสตราจารย์ ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ เราได้กำหนดยุทธศาสตร์และวางนโยบายที่ชัดเจน ภายใต้นโยบาย “SUT Re-Profile 2020” ในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ดีที่สุดของประเทศ และเป็นมหาวิทยาลัยใน 200 อันดับแรกของภูมิภาคเอเชีย โดยท่านอธิการบดีมีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยไปสู่การเป็น Social Enterprise (SE) หมายถึง การเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนและเป็นที่พึ่งของสังคม

มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญในเรื่อง การบริหารจัดการนวัตกรรม (Innovation management) มีหน่วยงานภายในชื่อ “เทคโนธานี” (Technopolis) ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการนวัตกรรมจากงานวิจัยของคณาจารย์และนักวิจัยในมหาวิทยาลัยไปสู่การปรับแปลง ถ่ายทอด และพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ

ในส่วนของการบ่มเพาะนักศึกษาให้มีความเป็นผู้ประกอบการนั้น มหาวิทยาลัยได้จัดตั้งสถานพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการสำหรับนักศึกษา (Student Entrepreneurship Development Academy : SEDA) ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการให้นักศึกษา เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้กระบวนการคิดในการสร้างธุรกิจฐานนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยในช่วงระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา SEDA ได้ร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินโครงการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเกิดใหม่ที่มีการเติบโตสูง โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดการเรียนการสอน และการดำเนินกิจกรรมเสริมหลักสูตรในการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการอย่างเข้มข้น รวมถึงการพัฒนาศักยภาพอาจารย์และพี่เลี้ยงในการพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการ

มหาวิทยาลัยให้ความสำคัญในเรื่องการสร้าง Venture Ecosystem, Industrial Collaboration, Talents (คณาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา) ที่มี Mindset ในเรื่อง Entrepreneurship, การสร้าง Startups/Spin-offs และการสร้างผู้ประกอบการ (Entrepreneurs) โดยตัวอย่าง Startup จากแนวคิดของนักศึกษา อาทิ นวัตกรรมวัสดุผสม (Composite Material) จากพลาสติกรีไซเคิลและขยะจากอุตสาหกรรมเกษตร เป็นผลงานของนักศึกษาปริญญาตรี สาขาวิชาวิศวกรรมพอลิเมอร์ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลผลงานนวัตกรรมยอดเยี่ยม Blue Ribbon ในงาน Shenzhen Maker Faire 2019 ประเทศจีน ตัวอย่าง Spin-off ที่ใช้ผลงานวิจัยและพัฒนาของมหาวิทยาลัย เช่น เทคโนโลยีการทำความเย็นแบบยิ่งยวด (Thermoelectric) เพื่อฟื้นฟูการบาดเจ็บหลังจากการผ่าตัด เป็นผลงานของศูนย์ความเป็นเลิศด้านวัสดุหน้าที่พิเศษขั้นสูง ร่วมกับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีวกลศาสตร์ทางการแพทย์ ได้รับทุนสำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อออกสู่ตลาด กองทุนพัฒนาผู้ประกอบการเทคโนโลยีและนวัตกรรม อว. (TED Fund)

พาร์ทเนอร์ที่อ่านเกมขาด : “เปิดประตูห้องแล็บ สู่สาธารณะ พาผลงานสู่ระดับอินเตอร์”

ทีเซลส์ (TCELS : Thailand Centre of Excellence for Life Sciences) หรือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) คือหนึ่งในผู้เปิดเวทีให้กลุ่มสตาร์ทอัปด้าน Bio Sience ได้รู้จักกัน สร้างเครือข่าย และนำเสนอผลงานสู่สารธารณะ จนถึงต่างประเทศ ดร.ศิรศักดิ์ เทพาคำ ผู้อำนวยการศูนย์ความเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า บทบาทหน้าที่หลักของ TCELS คือพัฒนาธุรกิจไลฟ์สไตล์ให้ครอบคลุมตั้งแต่อินฟราสตรักเจอร์ การอบรม การทำให้เกิดธุรกิจ การเชื่อมโยงเครือข่าย การสร้างให้เกิดการลงทุนด้านไลฟ์สไตล์ ตอบโจทย์การนำงานวิจัยจากห้องแล็บมาสู่โลกภายนอก

“การสร้างพื้นที่ให้กลุ่มสตาร์ทอัปด้าน Bio Sciences เราเริ่มตั้งแต่พาเขาไปดูงานที่เมืองนอก จนเกิดไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ บางคนได้คอนเน็คชั่น ได้พาร์ทเนอร์ นำมาต่อยอดให้กับงานตัวเอง สิ่งที่เป็น Indicator บอกว่าอุตสาหกรรมเข้มแข็งหรือไม่ คือการจัด Exhibition รวบรวม Stakeholder มาให้ได้บ่อยและสม่ำเสมอ เพราะนั่นหมายถึงอุตสาหกรรมเราเข้มแข็งพร้อมต่อการเติบโต และด้วยนโยบายของรัฐที่ให้เพิ่มขีดความสามาถในการแข่งขัน ส่วนหนึ่งถ้าเราจะแข่งขันได้เราต้องไปตลาดโลกได้ด้วย TCELS ก็จะพาผู้ประกอบการ หน่วยงานไปออกงานในต่างประเทศ ให้เขารู้สึกว่าเขาหา Partner และ Collaborator ได้ โดยเราก็มีการเพิ่มโอกาสโดยการดึงนักลงทุนเข้ามา เช่น งาน Bio Asia Pacific2020 ที่เพิ่งจบไป ในหัวข้อ Virtual Conference 47 หัวข้อ มีผู้เข้าร่วมออนไลน์ 545 คน เกิดความร่วมมือในการพัฒนาเมืองการแพทย์อมตะเมดิทาวน์ การตั้ง Thailand Life Sciences Cluster (TLSC) ซึ่งเป็น Life Sciences Cluster แรกของประเทศ และคาดว่าจะมีการต่อยอดพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการไม่น้อยกว่า 5 ผลิตภัณฑ์และบริการ คาดว่าจะสร้างงาน สร้างอาชีพและเม็ดเงินที่เกิดจากการลงทุนมากกว่า 1,500 ล้านบาท”

START UP หน้าใหม่ : หา Pain Point ของ Customer เพื่อดูว่าเราจะช่วยเขาได้อย่างไร

“ในการที่จะทำงานวิจัย หรือนวัตกรรมใด เราต้องศึกษาว่าผู้บริโภคมีปัญหาอะไร และเราจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาเขาอย่างไร”

ศิริเพ็ญ รัตนสมบูรณ์ชัย หนึ่งในทีมวิจัยอุปกรณ์วัดระดับน้ำตาลในเลือดจากลมหายใจเพื่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน ในชื่อ DM Sense เล่าถึงที่มา

“เริ่มแรกจากงานวิจัยหลักสูตรปริญญาโท นวัตกรรมชีวการแพทย์ จะได้เรียนทั้งด้านวิศวะ การแพทย์ และการเป็นผู้ประกอบการ เรามองว่างานวิจัยนี้น่านำไปต่อยอด รวมถึงการได้ไปศึกษา Pain Point ของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องเจาะเลือดที่ปลายนิ้วทุกวัน วันละหลายครั้ง ซึ่งการเจาะเลือดทุกวันทำให้มีแผลที่นิ้ว และผู้ป่วยเบาหวานก็เป็นแผลหายยาก จึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ จึงคิดว่าน่าจะมีวิธีอื่นไหมที่ตรวจโรคเบาหวานได้โดยไม่ต้องเจาะเลือด ทางทีมสนใจการตรวจจากลมหายใจ DM Sense วัดจากอะซีโตนที่ออกมาจากลมหายใจอีกทีนึง ซึ่งค่าอะซีโตนมีความสัมพันธ์กับค่าน้ำตาลในเลือด คือ ค่าน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น ค่าอะซีโตนในลมหายใจก็เพิ่มขึ้น การพัฒนานี้เรามองไปที่ Home Use เพื่อผู้ป่วยเบาหวานไว้ใช้ตามบ้านได้เลย ซึ่งคาดว่าจะนำมาใช้ได้อีกภายใน 1-2 ปี ภายหลังจากได้รับการรับรองมาตรฐานแล้ว”

นักพัฒนา : ความสร้างสรรค์และนวัตกรรม คือการผสมผสานชิ้นงานวิทยาศาสตร์ให้จับต้องได้ และเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ของโลกอนาคต

ระบบการถ่ายภาพจอประสาทตา ด้วยเทคโนโลยี OCT 3D Retinal Scan : การป้องกันย่อมดีกว่าการรักษา เราป้องกันได้ตั้งแต่ Early Stage

“รู้ไหมครับว่า โรคเกี่ยวกับตานี่ต้องรอให้เป็นก่อนถึงจะเริ่มกระบวนการรักษา”

รศ.ดร.พนมศักดิ์ มีมนต์ อาจารย์ที่ปรึกษา งานวิจัยระบบการถ่ายภาพจอประสาทตา (Non Invasive 3 D Retina Scanner) บอกเล่าถึงที่มาของนวัตกรรมชิ้นนี้

“ในประเทศไทยยังต้องนำเข้าเครื่องนี้ ตกเครื่องละ 3-4 ล้านบาท จึงมีแค่ตามโรงพยาบาลใหญ่ ๆ ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ยาก ส่วนใหญ่จึงต้องรอจนกว่าโรคทางตาจะแสดงอาการเพื่อให้การวินิจฉัยแม่นยำแล้วจึงค่อยเริ่มกระบวนการรักษาซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา ค่ายา ค่าเข็มก็เริ่มต้นที่หลักพันถึงหลักหมื่น”

“เครื่องตรวจวัดสายตาแบบ 3D นี้ ใช้ระบบเทคโนโลยี OCT ใช้เลเซอร์ในช่วงอินฟาเรดช่วง 800 นาโนเมตร โดยจะมีความละเอียดสูงกว่าระบบอัลตราซาวด์ประมาณ 1 หมื่นเท่า และสามารถถ่ายภาพลงได้ลึกประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ไม่ทำลายเนื้อเยื่อเซลล์สิ่งมีชีวิตจึงมีความปลอดภัยสูง จากนั้นจะทำการแปลงสัญญาณที่สะท้อนกลับจากจอประสาทตาออกมาแปลงเป็นสัญญาณภาพออกมา ประโยชน์ของเครื่องนี้คือการดูอะไรก็ตามที่มีขนาดเล็กและมีความลึกด้วย นั่นก็คือจอประสาทตาของคนเรา ซึ่งระบบเดิมการดูจอประสาทตาจะสามารถดูได้แค่พื้นผิวเท่านั้น”

ระบบเทคโนโลยี OCT นี้ทำให้เราเห็นใต้จอประสาทตาลงไป เมื่อมีอะไรก็ตามที่ผิดปกติ ตั้งแต่ในระดับไมครอนเราจะเจอก่อนและบอกได้ว่าเราต้องรักษาแล้ว เป็นการตรวจตั้งแต่ Early Stage เห็นความผิดปกติตั้งแต่ระยะแรก ผู้ป่วยก็รักษาได้เร็ว

“โรคเกี่ยวกับดวงตาไม่เหมือนโรคทั่วไปที่เมื่อรักษาจะมีการสร้างเซลล์ใหม่ทดแทน แต่ดวงตาเมื่อเป็นแล้วรักษาไม่ได้ทำได้แค่การยับยั้งและหยุดความผิดปกติ ดังนั้นถ้าเราตรวจพบตั้งแต่แรก ๆ ก็จะทำให้ผู้ป่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นเกี่ยวกับโรคจอประสาทตา อาทิ โรคต้อหิน รวมไปถึงโรคความดันตา โรคเบาหวาน และโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับจอประสาทตาด้วย สำหรับเครื่องนี้ยังอยู่ในช่วงการทดลองในห้องแล็บ ทางทีมได้มีการนำระบบ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ผล คาดว่าน่าจะเริ่มได้ใช้อีกประมาณ 2 ปี”

Electrospinning & 3D Printing Technology : ความสำเร็จของเราคือการขึ้นรูปเส้นใยขขนาดเล็กระดับนาโนให้ออกมาเป็นรูปทรง 3 มิติ

นั่นหมายถึง “ความฝันในการสร้างอวัยวะเทียมอยู่อีกไม่ไกล”

“ความฝันของผมเลยนะ อีก 3-5 ปี เราอาจจะทำอวัยวะเทียมอย่าง กระเพาะปัสสาวะ ปอด หลอดเลือด และหัวใจได้จากเครื่องนี้”

ดร.วิวัฒน์ นวลสิงห์ นักวิจัยและอาจารย์ที่ปรึกษา การพัฒนาเครื่อง Electrospinning & 3D Printing Technology เล่าถึงความมุ่งมั่นในการต่อยอดนวัตกรรมสู่อนาคต

“เครื่องนี้สามารถขึ้นรูปวัสดุให้อยู่ในรูปแบบ 3 มิติ จากไฟล์ 3 มิติ แบบดิจิทัลที่ใช้คอมพิวเตอร์สร้างขึ้น เส้นใยนาโน คือ เส้นใยที่มีขนาดเล็กมาก เล็กกว่าเส้นผมของเราประมาณ 100-1000 เท่า แต่เราสามารถควบคุมเส้นใยนาโนให้ก่อตัวขึ้นเป็นรูปร่างตามที่เราออกแบบเป็น 3 มิติ”

“เราได้ทำงานร่วมกับอาจารย์และนักวิจัยด้านไบโอเทค เพื่อทดลองใช้วัสดุจากธรรมชาติ เช่น การนำเซลลูโลสจากชานอ้อยที่มีทั้งขนาดเล็กในระดับไมโครเมตรและนาโนเมตร มาผสมกับพอลิเมอร์ชีวภาพชนิดต่าง ๆ เพื่อพัฒนาวัสดุให้มีสมบัติความเข้ากันได้กับร่างกายมนุษย์ สมบัติเชิงกลที่เหมาะสมกับการใช้งาน และจนกระทั่งสามารถขึ้นรูปออกมาเป็นโครงสร้างจากเส้นใยนาโนได้ จากนั้นเราจะนำโครงสร้างแบบ 3 มิติ มาทดสอบกับเซลล์ว่ามีสมบัติอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับนักวิจัย อาจารย์ในสาขาวิชาอื่น ๆ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อนำผลที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์จริง ตัวอย่างเช่น การสร้างเนื้อเยื่อเทียมให้กับผู้ประสบอุบัติเหตุไฟไหม้ผิวหนังถูกทำลายในชั้นลึกมาก ๆ บางวิธีรักษาต้องใช้ผิวหนังส่วนอื่นในร่างกายมาแปะทดแทน แต่เนื่องจากเราทำโครงสร้างสำเร็จรูป 3 มิติ ได้จากเครื่องที่เราพัฒนาขึ้นและเมื่อผ่านการเลี้ยงเซลล์ เราก็สามารถนำไปปลูกถ่ายใช้กับผู้ป่วยได้ สิ่งนี้เป็นตัวอย่างการนำไปใช้ในขั้นแรก ซึ่งขณะนี้สำเร็จในระดับห้องปฏิบัติการ ยังขาดในเรื่องของการควบคุมด้านมาตรฐานการผลิต GMP เพื่อให้ได้รับการอนุมัติและนำไปใช้ในโรงพยาบาลได้”

การทำเนื้อเยื่อ 3 มิติ ให้ลองนึกถึงแผลกดทับที่ต้องคว้านเนื้อออกและมีช่องว่างอยู่ เราจึงจำเป็นต้องใช้วัสดุที่เป็น 3 มิติ เพื่อให้เข้ากับการใช้งานได้จริงมากขึ้น หรืออีกงานวิจัยที่วางแผนไว้ คือ การผลิตวัสดุทดแทนกระดูก เป็นโครงสร้างที่เซลล์กระดูกสามารถเจริญเติบโตได้ โดยการขึ้นรูปโครงสร้างขึ้นมาให้ใกล้เคียงกับกระดูก และผสมวัสดุหลาย ๆ ตัว ให้มีสมบัติใกล้เคียงกระดูก โดยมีโครงสร้างรูพรุนสูงจากเส้นใยนาโน

“สิ่งที่ทีมวิจัยหวังต่อยอดการพัฒนาต่อไป เราหวังถึงการทำอวัยวะเทียม เพราะปัจจุบันมนุษย์ยังมีปัญหาด้านสุขภาพเจ็บป่วยจำนวนมาก ซึ่งเทคโนโลยี 3D printing เริ่มมีการพัฒนาให้สามารถทำอวัยวะเทียมได้ เช่น ใบหู กระเพาะปัสสาวะ หรืออย่างปัจจุบันนี้กับสถานการณ์ COVID-19 เราพบว่ามีผู้ป่วยโรคโควิดที่รักษาหาย แต่ปอดถูกทำลายไปแล้ว ถ้าเราสามารถทำปอดเทียมเพื่อใส่ทดแทนเข้าไปก็น่าจะทำให้คุณภาพชีวิตมนุษย์โลกดีขึ้นได้ในอนาคต หรืออย่างหัวใจเทียมที่ปัจจุบันในต่างประเทศเริ่มมีการทดลองใช้การพิมพ์ 3 มิติแบบชีวภาพ ขึ้นรูปหัวใจเทียมด้วยเซลล์จากมนุษย์ได้ แต่ยังมีขนาดเล็กเท่าหัวใจของกระต่าย ซึ่งเรามองว่าในประเทศไทยยังต้องใช้เวลาศึกษาพัฒนาต่อในห้องปฏิบัติการอีกขั้นตํ่า 3-5 ปี”