Special Stories » วิเคราะห์ตลาดแรงงานรับ “ปัจจัยลบ” รอบด้าน

วิเคราะห์ตลาดแรงงานรับ “ปัจจัยลบ” รอบด้าน

2 มีนาคม 2020
0

Newscurveonline.com : จากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยและทั่วโลกตั้งแต่ปลายปี 2562 จนถึงช่วงต้นไตรมาสแรกปี 2563  เมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอัตราเติบโตเฉลี่ยของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 3.3% แต่ในปีที่ผ่านมากับปี 2563 เริ่มมีการส่งสัญญาณชะลอตัวโดยมีปัจจัยจากเศรษฐกิจโลกและภายในประเทศ

ข้อมูลล่าสุดจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุปัจจัยลบที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศไทยในปีนี้ มี 3 ปัจจัยหนัก ๆ ได้แก่ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 รวมถึงภาวะภัยแล้ง และความล่าช้าของงบประมาณปี 2563 ทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2563 อาจขยายตัวต่ำกว่าปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังจะต้องติดตามต่ออีกว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 จะใช้ระยะเวลาอีกนานเพียงใด หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อต่อเนื่องก็จะมีความเสี่ยงที่เศรษฐกิจไทยปีนี้อาจขยายตัวต่ำกว่า 2%

สำหรับกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากปัจจัยลบข้างต้นโดยเฉพาะโรคระบาดจากเชื้อ COVID-19 คือ ธุรกิจท่องเที่ยวซึ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีรายได้เฉลี่ยปีละ 2.9 ล้านล้านบาทคิดเป็น 20% ของจีดีพี เกี่ยวข้องกับทั้งโรงแรม ภัตตาคาร ค้าปลีก ขนส่ง และอื่น ๆ คิดเป็น 20% ของการจ้างงานรวมภายในประเทศ ซึ่งภายหลังการเกิดโรคระบาดตลาดแรงงานส่งสัญญาณชัดโดยมีคาดการณ์ว่าการจ้างงานในภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะได้รับผลกระทบ จากข้อมูลแรงงานในการจ้างงานของภาคธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง แบ่งเป็น ภาคการท่องเที่ยว 0.5 ล้านคน หรือ 1.2% ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว 7.2 ล้านคน หรือ 19.1% ภาคการผลิต 6.2 ล้านคน หรือ 16.5% ภาคการเกษตร 11.7 ล้านคน หรือ 31.1% และอื่น ๆ 12 ล้านคน หรือ 32%

 

“แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย” ในฐานะที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญตลาดแรงงานเชิงนวัตกรรม สรุปภาพรวมตลาดแรงงานในปี 2563 ว่า สถานการณ์ตลาดแรงงานในปีนี้ต้องเตรียมรับมือทั้งจากสงครามการค้าและวิกฤติโรคระบาด COVID-19 โดยข้อมูลของ ธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งนักวิชาการ ทำให้ผู้ประกอบการและแรงงานในขณะนี้ต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือ เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นยังไม่แน่ใจว่าจะยืดเยื้ออีกนานเท่าใด อีกทั้งในส่วนของการจ้างงานเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัวเพราะในหลายธุรกิจมีการรัดเข็มขัดบริหารจัดการ ลดต้นทุนในด้านที่ไม่จำเป็นทางด้านการจ้างงานเข้มงวดมากขึ้นแรงงานที่คัดเลือกมาทำงานจะต้องเป็น Multiple Skill ดังนั้นการพัฒนาและเสริมทักษะแรงงานในแต่ละสายงานจึงมีความสำคัญมาก

สำหรับทิศทางแรงงานและการจ้างงานในครึ่งปีแรกยังส่งสัญญาณชะลอตัวและไม่มีภาพของการขยายโครงสร้างที่ชัดเจน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการจ้างงานที่มาทดแทน ยกเว้นบางธุรกิจที่อยู่ในกระแสการเติบโตทางธุรกิจ ซึ่งสะท้อนภาพของยุคดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นที่มีความต้องการกำลังคนเฉพาะทาง อาทิ ธุรกิจด้านที่ปรึกษา ธุรกิจด้านกฎหมาย เป็นต้น รวมถึงกลุ่มธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยี และธุรกิจขนส่งกับลอจิสติกส์ ซึ่งหากแรงงานที่ทำงานในกลุ่มธุรกิจดังกล่าวจะไม่ได้รับผลกระทบเพราะเป็นกลุ่มธุรกิจที่กำลังเติบโตและเป็นดาวรุ่ง

ล่าสุด “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย” จัดทำผลสำรวจ 10 อันดับสายงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน (นายจ้าง) ดังนี้ อันดับหนึ่ง สายงานขายและการตลาด 22.56% อันดับสอง สายงานบัญชีและการเงิน 12.61% อันดับสาม งานระยะสั้นต่าง ๆ (Temporary & Contract) 10.39% อันดับสี่ งานธุรการ 9.39% อันดับห้า งานไอที 8.83% อันดับหก งานด้านการผลิต 8.72% อันดับเจ็ด งานวิศวกร 8.33% อันดับแปด งานขนส่งและลอจิสติกส์ 4.67% อันดับเก้า งานบริการลูกค้า 4.39% และสุดท้ายงานทรัพยากรบุคคล 4.33%

จากผลการจัดอันดับสายงานที่เนื้อหอมมากที่สุดติดอันดับ 1 ในช่วง 3 ปีติดต่อกันคือ “กลุ่มงานขายและการตลาด” เนื่องสถานการณ์เศรษฐกิจ การส่งออก และผลพวงจากสงครามการค้าผลักดันให้สายงานการขายเข้ามามีบทบาทในการนำเสนอและสื่อสารระหว่างบุคคลโดยเฉพาะการขายสินค้า หรือบริการบางประเภทที่ต่อมีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อ ส่วน “งานด้านบัญชีและการเงิน” องค์กรมีความต้องการเพราะจะต้องมาในการวางแผนและบริหารจัดการต้นทุน การวางแผนภาษีและการลงทุนต่าง ๆ ขณะที่กลุ่มงานที่น่าจับตามองและโดดเด่นในปีนี้คือ “งานระยะสั้นต่าง ๆ” ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางการจ้างงานในปัจจุบัน เนื่องจากการจากงานในกลุ่มนี้จะเป็นแรงงานที่มีทักษะเฉพาะทาง (Specialist Skill) ซึ่งรูปแบบการจ้างงานในลักษณะนี้มีส่วนช่วยองค์กรลดต้นทุนและควบคุมต้นทุนได้เป็นอย่างดี โดยในส่วนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานก็เริ่มเปิดใจกับรูปแบบการจ้างงานลักษณะนี้มากขึ้น เพราะไม่ได้จำกัดการทำงานแค่แรงงานนอกระบบ แต่แรงงานที่ทำงานประจำก็สามารถทำงานในลักษณะนี้ได้เพื่อเสริมรายได้จากรายได้ประจำ ส่วน “งานด้านไอที” ปัจจุบันมีความต้องการเพิ่มมากขึ้นแบบก้าวกระโดดทั้งในลักษณะงานประจำ งานสัญญาจ้าง รวามถึงงาน Outsource เนื่องจากองค์กรมีความตื่นตัวและมองว่าเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิตัลอย่างเต็มรูปแบบ 

ทางด้านผลสำรวจการจัดอันดับ 10 สายงานที่เป็นที่ต้องการของแรงงาน (ลูกจ้าง) มีดังนี้ อันดับหนึ่ง งานขายและการตลาด 23.74% อันดับสอง งานธุรการ 15.78% อันดับสาม งานวิศวกร 9.87% อันดับสี่ งานบัญชีและการเงิน 9.20% อันดับห้า งานขนส่งและลอจิสติกส์ 8.52% อันดับหก งานบริการลูกค้า 6.86% อันดับเจ็ดงานระยะสั้นต่าง ๆ 6.79% อันดับแปด งานการผลิต 6.37% อันดับเก้า งานทรัพยากรบุคคล 5.98% สุดท้ายงานไอที 3.08%

นอกจากนี้ ผลสำรวจในส่วนของกลุ่มธุรกิจที่ต้องการแรงงานสูงสุด 3 อันดับหลัก ๆ ได้แก่ งานด้านบริการ บริการเฉพาะกิจ, ขนส่งและลอจิสติกส์, การท่องเที่ยวและสันทนาการ, สื่อและสิ่งพิมพ์, การแพทย์, พาณิชย์ 25.80% รองลงมาคือสินค้าอุตสาหกรรม วัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร, ยานยนต์, ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์, เหล็ก, กระดาษและวัสดุการพิมพ์, บรรจุภัณฑ์ 17.73% และ สินค้าอุปโภคบริโภค ของใช้ในครัวเรือนและสำนักงาน, แฟชั่น, ของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ 13.39% โดย “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” แนะแรงงานให้เร่งปรับตัวรับมือกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลง เพื่อตอบโจทย์กับความต้องการของการจ้างงานมากขึ้น

จากผลสำรวจการจัดอันดับงานข้างต้นจึงน่าจะช่วยให้องค์กรได้วางแผนด้านกำลังคน รวมถึงการพัฒนาบุคลากรเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทั้งทางเทคโนโลยี พฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของคนในยุคปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันด้านแรงงานก็ต้องพัฒนาตนเอง เพิ่มพูนทักษะและประสบการณ์ทั้ง Up-Skill และ Re-Skill เพื่อก้าวสู่การเป็นแรงงานรุ่นใหม่ที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง เรียนรู้และประยุกต์ใช้อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา  พร้อมทั้งรักษาความมั่นคงในสายอาชีพอย่างยั่งยืนต่อไป.