Special Stories » กักตัวแต่ไม่กักใจ ช่วยพยุง SMEs สู้โควิด

กักตัวแต่ไม่กักใจ ช่วยพยุง SMEs สู้โควิด

27 มีนาคม 2020
0

Newscurveonline.com : ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร ปริมณฑล และจังหวัดต่าง ๆ มีมาตรการปิดสถานที่หลายประเภท โดยคงไว้แต่จุดที่จำเป็น เช่น ตลาด ร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค เป็นต้น เพื่อลดความเสี่ยงการระบาดของ COVID-19 สอดคล้องกับนโยบายการเพิ่มระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing ที่ทั่วโลกต่างยึดถือ ทำให้หลายคนต้องอยู่ที่บ้านและทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) มากขึ้น ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีเนื่องจากผู้คนไม่สามารถรับประทานทานข้าวนอกบ้าน ออกไปชอปปิง เดินทางท่องเที่ยว หรือใช้บริการของธุรกิจต่าง ๆ ได้

จากข้อมูลล่าสุดในปี 2561 วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs สร้างงานให้คนกว่า 11.1 ล้านคน โดยหาก SMEs ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจนต้องปิดตัวลง จะต้องมีคนอีกจำนวนมากตกงานพร้อมกัน นอกจากนี้ SMEs ยังเป็นผู้กระจายรายได้ที่เป็นตัวขับเคลื่อนการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจด้านการบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งนอกจากสร้างรายได้ให้ประเทศแล้ว ยังสร้างเอกลักษณ์และสีสันของการท่องเที่ยวไทย

ดังนั้น ไม่ว่าเราจะทำงานอยู่ในแวดวงธุรกิจ SMEs หรือไม่ก็ตาม เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจ SMEs ส่วนใหญ่และเศรษฐกิจโดยรวมผ่านพ้นวิกฤติ COVID-19 ไปด้วยกัน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จึงขอเสนอแนะ วิธีช่วยเหลือ SMEs ง่าย ๆ จากที่บ้านดังนี้

1.สั่งอาหารจากร้านอาหารในละแวกที่อยู่อาศัยของตนเอง หรือสั่งอาหารออนไลน์จากผู้ประกอบการรายย่อย ซึ่งถือเป็นโอกาสในการลองร้านอาหารใหม่ ๆ ที่อาจค้นพบร้านอาหารที่ถูกและดีของพ่อค้าแม่ค้ารายย่อยอีกมาก

2.ซื้อของสดในตลาดละแวกบ้าน / ซื้อของใช้ในร้านโชวห่วยมากขึ้น นอกจากไม่ต้องเดินทางไกลแล้ว ยังช่วยลดความแออัดของผู้คนจากการกระจายซื้อสินค้าตามตลาด / ร้านโชวห่วย ต่าง ๆ โดยไม่กระจุกตัวซื้อสินค้าในจุดเดียวกัน

3.สั่งตรงผลผลิตจากเกษตรกรเพื่อสนับสนุน SMEs ภาคการเกษตรผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น ThailandPostMart.com

4.ชอปปิงออนไลน์จากร้านค้ารายย่อย ผ่านโซเชียลมีเดีย หรือแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น อุปกรณ์เกี่ยวกับงานอดิเรกที่ชอบเนื่องจากการอยู่บ้านทำให้มีเวลามากขึ้น ตลอดจนการทำสวน การจัดบ้าน หรือการตกแต่งบ้าน สามารถสั่งซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ต้องการใช้ผ่านกลุ่ม SMEs หรือเลือกตกแต่งบ้านจากงานศิลปะท้องถิ่น

5.ซื้อบัตรกำนัลจากร้านของธุรกิจ SMEs ที่ชื่นชอบ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจบริการ โรงแรมและร้านอาหาร ซึ่งจะช่วยให้ SMEs ได้รับเงินทันที ส่วนผู้ซื้อบัตรกำนัลสามารถนำไปใช้ในช่วงที่สถานการณ์ COVID-19 เริ่มดีขึ้นได้ อีกทั้งสามารถซื้อได้ในราคาพิเศษอีกด้วยเพราะหลายธุรกิจต่างลดราคาเพื่อจูงใจลูกค้า

6.แชร์ประสบการณ์ผ่านโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร หรือสินค้าคุณภาพที่ได้ค้นพบจากร้านในละแวกบ้าน และบอกต่อเพื่อเชิญชวนให้ผู้อื่นสนับสนุนธุรกิจ SMEs ด้วยกัน

ในช่วงที่ทั่วโลกต่างเผชิญกับวิกฤตเช่นนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ต่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก การร่วมมือกันช่วยเหลือ สนับสนุน และประคับประคองธุรกิจไม่ว่าจะด้วยวิธีข้างต้น หรือวิธีอื่น ๆ จึงนับเป็นหนึ่งในบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เพื่อช่วยรักษาการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญที่สุดในช่วงเวลานี้คือการให้ความร่วมมือด้าน Social Distancing ลดการอยู่ร่วมกันในสถานที่แออัด ล้างมือ ใส่หน้ากาก เพื่อให้สถานการณ์ สามารถคลี่คลาย ส่งผลให้เศรษฐกิจกลับมาสู่สถานการณ์ปกติได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติแล้วก็อย่าลืมสนับสนุน SMEs กันต่อไป.