Newscurveonline.com : จากสถานการณ์ตลาดแรงงานของประเทศไทยในปัจจุบันพบว่า ปัญหาการขาดแคลนแรงงานถือเป็นปัญหาสำคัญของหลาย ๆ องค์กร โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงานทักษะสูงได้ส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ผู้นำองค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ในประเทศไทยและทั่วโลกจึงพยายามค้นหากลยุทธ์ในการสร้างและรักษาแรงงานกลุ่มนี้เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรและธุรกิจให้เติบโตต่อไปอย่างมั่นคง
“แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” ในฐานะที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญตลาดแรงงานเชิงนวัตกรรมชั้นนำ เปิดเผยถึงผลการวิจัยในหัวข้อ “การขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถประจำปี 2563” พบว่า แต่ละปีมีการจ้างงานที่ยั่งยืนสำหรับแรงงานประมาณ 3 ล้านคนทั่วทั้งโลก โดย “แมนพาวเวอร์” มีการทำงานร่วมกับบริษัท องค์กรเกือบ 5 แสนแห่งใน 80 ประเทศเพื่อศึกษาและวิจัยปัจจัยที่ “แรงงานต้องการ” รวมถึงการทำความเข้าใจว่าปัจจัยใดที่ดึงดูดให้บุคลากรเข้าทำงาน และเหตุผลใดจึงทำให้บุคคลทำงานในองค์กรนั้น ๆ ได้ยาวนาน ซึ่งแต่ละองค์กรจะมีวิธีการที่แตกต่างกันไปตามภูมิศาสตร์ เพศและในระยะต่าง ๆ ของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมและอาชีพ โดยอ้างอิงจากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1.4 หมื่นคนใน 15 ประเทศ รวมข้อมูลเชิงลึกที่โดดเด่นเข้ากับข้อมูลตลอด 13 ปีจากการสำรวจความสามารถพิเศษทั่วโลกของ “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” ซึ่งเป็นการศึกษาทุนมนุษย์ที่ใหญ่ที่สุดในระดับโลก
นายโจนัส ไพรชิง ประธานและซีอีโอ “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” เปิดเผยว่า ตลาดแรงงานทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะการบีบรัด ซึ่งการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะความสามารถสูงอยู่ในระดับสูงสุด นับเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ในปัจจุบันเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับทุกองค์กร นับเป็นความท้าทายที่ทุกองค์กรต้องเตรียมรับมือและปิดช่องโหว่เรื่องการขาดแคลนแรงงานกลุ่มนี้ ดังนั้น องค์กรจึงมีความต้องการโซลูชันใหม่สำหรับอนาคตของการทำงานและอนาคตของแรงงาน โดยผลวิจัยระบุว่าองค์กรมากกว่าครึ่งหนึ่งทั่วโลกไม่สามารถหาแรงงาน หรือบุคลากรที่มีทักษะตามที่ต้องการ คิดเป็นสองเท่าจาก 10 ปีที่ผ่าน ส่วนทางด้านแรงงานนั้นมีอัตราการว่างงานต่ำสุดในรอบหลายสิบปี
บทบาทของเทคโนโลยีส่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลและระบบอัตโนมัติเป็นไปอย่างรวดเร็ว แต่นายจ้างส่วนใหญ่ทั่วโลกกำลังเพิ่ม หรือคงจำนวนพนักงานในองค์กรไว้ ในขณะที่ความต้องการทักษะความชำนาญกับบทบาทของงานมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การปฏิวัติทักษะความชำนาญที่คาดการณ์ไว้เมื่อ 4 ปีก่อนยังคงเป็นความท้าทายใหม่ในโลกปัจจุบันถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือช่วยอย่างแพร่หลาย แต่กำลังคน หรือแรงงานกลับยังคงขาดแคลนและมีความต้องการสูง
อย่างไรก็ตาม การค้นหาและการสร้างกับการรักษาบุคลากรที่มีทักษะความสามารถสูงนั้นเป็นกลไกหลักที่หลายองค์กรค้นหาวิธีการและวางกลยุทธ์เช่นเดียวกัน เพื่อรักษาให้กำลังคนไว้ในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จ ดังนั้นองค์กรและผู้นำจึงจำเป็นต้องรู้ว่าคนทำงานต้องการอะไร ชอบหรือไม่ชอบอะไรเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของบุคลากรที่มีความสามารถสูง รวมถึงยังต้องมีตัวช่วยในการค้นหาบุคลากรที่เก่งและองค์กรต้องการ
หลักการดังกล่าวจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้ถือหุ้นเมื่อองค์กรของคุณให้ความสำคัญในการดูแลพนักงาน ลูกค้าและชุมชนไปพร้อม ๆ กัน รวมถึงความรับผิดชอบในการช่วยให้คนได้เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ให้สามารถประยุกต์ใช้กับงานในอนาคตและเป็นผู้สร้างคนเก่ง ทั้งนี้ ผู้นำองค์กร หรือนายจ้างจำเป็นต้องรู้ความต้องการของลูกจ้าง แล้วตอบสนองให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกจ้าง หากทำเช่นนี้ องค์กรก็จะสามารถค้นหาลูกจ้าง หรือแรงงานที่มีความทักษะสามารถแบบที่องค์กรต้องการ
จากผลวิจัยและสำรวจการขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะความสามารถสูงทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดย เปรียบเทียบในช่วง 10 ปีจะเห็นได้ว่าในแต่ละปีนั้นขาดแคลนแรงงานทักษะสูง หรือบุคลากรที่มีความสามารถเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปี 2552 การขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถอยู่ที่ 30% ต่อมาในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 31% ปีถัดมาปี 2554 กับปี 2555 การขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถอยู่ที่ 34% โดยในปี 25562-2557 การขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1% เป็น 35% และ36% จนในปี 2558 ขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถเฉลี่ย 38% และปี 2559 การขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถเฉลี่ย 40% จนมาถึงปี 2561 เพิ่มเป็น 45% และในปี 2562 การขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถเพิ่มสูงขึ้นถึง 54%
จากผลการศึกษาและวิจัย ระบุอีกว่าในขณะนี้ทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะความสามารถสูงเพิ่มมากขึ้น และพบว่าอัตราการขาดแคลนสูงสุดในประเทศสหรัฐอเมริกา สวีเดน ฟินแลนด์ ฮังการี สโลวีเนีย รวมทั้งประเทศในแถบเอเชีย ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น โดยมีเพียง 18 ประเทศเท่านั้นที่ไม่มีรายงานการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะความสามารถสูง
“แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” ได้ทำการจัดอันดับกลุ่มแรงงานในสายอาชีพที่เป็นที่ต้องการมากที่สุด 10 อันดับแรกในปี 2562 มีดังนี้ อันดับที่หนึ่ง สายงานด้านที่อาศัยทักษะเฉพาะทางเช่น ช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อม ช่องซ่อม อันดับที่สอง สายงานด้านการขายและการตลาด เช่น พนักงานขาย ผู้จัดการฝ่ายขาย นักออกแบบกราฟฟิก อันดับที่สาม สายงานด้านเจ้าหน้าที่เทคนิค อันดับที่สี่ สายงานด้านวิศวกรรม อันดับที่ห้า สายงานด้านการขับรถและลอจิสติก อันดับที่หก สายงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) อันดับที่เจ็ด สายงานด้านการบัญชีและการเงิน อันดับที่แปด สายงานด้านการผลิต เช่น ผู้บังคับเครื่องจักร อันดับที่เก้า สายงานด้านการก่อสร้าง และสุดท้าย สายงานด้านการดูแลสุขภาพ เช่น แพทย์ พยาบาล และบุคลากรสายสุขภาพอื่น ๆ
สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นเมื่อพูดถึงบทบาทซึ่งเป็นที่ต้องการมากที่สุด ผลวิจัยระบุว่าโดย 80% ของกลุ่มดังกล่าวเป็นสายอาชีพและสาขาที่ขาดแคลนตั้งแต่ปี 2561 อีกทั้งทางด้านบุคลากรทางด้านการแพทย์ยังเข้ามาอยู่ใน 10 อันดับแรกในการศึกษาและวิจัยครั้งนี้ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า มีการเพิ่มจำนวนประชากรผู้สูงอายุอย่างมากในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่ธุรการประจำสำนักงาน พนักงานประจำคอลเซ็นเตอร์ ผู้จัดการโครงการ ทนายความและนักวิจัย ไม่ได้อยู่ใน 10 อันดับแรกได้สะท้อนให้เห็นถึงการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในงานประจำมากขึ้น และเทคโนโลยียังทำให้การทำงานเปลี่ยนแปลงไป บทบาทซึ่งเป็นที่ต้องการมากที่สุด คือ ทักษะที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
จากผลการศึกษาและวิจัยนี้ “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” คาดหวังว่าจะเป็นประโยชน์ช่วยให้องค์กรได้เตรียมแผนกำลังคนและรับมือเพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจ ขณะเดียวกันยังสามารถช่วยในการวางแนวทางที่จะค้นหา สร้างและรักษาแรงงาน พร้อมปรับตัวให้สอดคล้องกับทิศทางและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปในอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน.