Newscurveonline.com : “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เผยพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต ชี้ ผลกระทบจาก COVID-19 ทำพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ชีวิตวิถีใหม่เร่งสังคมไทยก้าวสู่ยุคสังคมไร้เงินสด ระบุผู้บริโภคทุกวัยหันมาใช้จ่ายออนไลน์เพิ่มขึ้น แม้ภาพรวมยอดใช้จ่ายผ่านบัตรลด แต่ความต้องการซื้อของผู้บริโภคยังคงอยู่ หมวดบริการส่งอาหาร ชอปปิงออนไลน์ สินค้าไอที ซูเปอร์มาร์เก็ต ยังโตพุ่ง เปิด 5 เทรนด์ใหม่ครองใจลูกค้า แนะธุรกิจเร่งปรับกลยุทธ์คว้าโอกาส เน้นการวิเคราะห์ข้อมูล พร้อมรุกทำการตลาดในหมวดที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตรูปแบบใหม่
นายฐากร ปิยะพันธ์ ประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์ ผู้ให้บริการด้านบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล อันประกอบไปด้วย บัตรเครดิตกรุงศรี, บัตรกรุงศรีเฟิร์สช้อยส์, บัตรเครดิตเซ็นทรัล เดอะวัน และบัตรเครดิตเทสโก้ โลตัส วีซ่า กล่าวว่า “วิกฤติ COVID-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจในวงกว้าง แต่ยังส่งผลต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภค โดย ข้อมูลจากฝ่าย Data Intelligence & Customer Insights (DICI) ของ “กรุงศรี คอนซูมเมอร์” ซึ่งวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตและบัตรสินเชื่อในเครือของบริษัทฯ ตั้งแต่ช่วงต้นปีถึงเดือนเมษายน 2563 ชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ชีวิตวิถีใหม่ (The New Normal) ที่ผู้คนไม่ค่อยเดินทางออกนอกบ้าน เร่งให้สังคมไทยก้าวสู่สังคมไร้เงินสด โดยคนทุกวัยเริ่มคุ้นชินกับการใช้จ่ายออนไลน์และไลฟ์สไตล์ดิจิทัล เช่น สั่งอาหาร ชอปปิง รับชมความบันเทิงต่าง ๆ ผ่านทางออนไลน์
แม้ในภาพรวมยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของบริษัทจะลดลง (ลดลง 37% ในเดือนเมษายน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน) แต่จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่า ยังคงมีความต้องการซื้อในตลาด เพียงแต่เปลี่ยนหมวดการใช้จ่าย ไปตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ธุรกิจต่าง ๆ จึงควรเร่งปรับกลยุทธ์ โดยหันมาให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก และมุ่งเจาะตลาดที่ยังคงมีศักยภาพสูง เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ บริการ หรือโปรโมชันที่เหมาะกับชีวิตวิถีใหม่ของลูกค้า เช่น โปรโมชันที่เกี่ยวกับการชอปปิงออนไลน์ บริการส่งอาหาร สินค้าไอที ความบันเทิงออนไลน์ ฯลฯ ผ่านช่องทางที่เหมาะสมในเวลาที่ทันท่วงที เพื่อให้ยังคงสามารถครองใจลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง
- เผย 5 เทรนด์พฤติกรรมการใช้จ่ายหลัง COVID-19
1.ก้าวสู่สังคมไร้เงินสด – ทุกวัยหันมาใช้จ่ายออนไลน์
จากข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตร ชี้ให้เห็นว่าช่วงมีนาคมถึงเมษายน 2563 จำนวนผู้ใช้บัตรเครดิตที่ทำรายการใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์เฉลี่ยต่อสัปดาห์เพิ่มขึ้นถึง 37% โดยในจำนวนนี้ 10% เป็นผู้ใช้รายใหม่ ทั้งนี้ พบว่า ทุกวัยมีแนวโน้มใช้จ่ายผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น แม้ว่ากลุ่มผู้ใช้ที่มีจำนวนมากที่สุดจะเป็นกลุ่ม Gen Y แต่กลุ่ม Baby Boomers ก็ปรับตัวมาใช้ช่องทางดิจิทัลได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะหมวดบริการส่งอาหาร และการชอปปิงออนไลน์ โดยพบว่ากลุ่ม Baby Boomer มีจำนวนครั้งที่ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในบางแพลทฟอร์มเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า แสดงให้เห็นว่า ชีวิตวิถีใหม่เป็นตัวเร่งให้สังคมไทยก้าวสู่ยุคสังคมไร้เงินสด
2.กิน ชอป ออนไลน์ ชีวิตต้องง่าย แค่ปลายนิ้ว – ยอดชอปปิงออนไลน์ บริการส่งอาหาร เติบโตก้าวกระโดด
ในช่วงที่ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า ไม่สามารถเปิดให้บริการได้เต็มรูปแบบ ผู้บริโภคเริ่มปรับตัว คุ้นชินกับวิถีชีวิตที่ง่าย สะดวกสบาย นิยมการสั่งอาหาร ชอปปิงผ่านทางออนไลน์ เห็นได้จากยอดใช้จ่ายผ่านบัตรในหมวดดังกล่าวในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน 2563 ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด โดยหมวดชอปปิงออนไลน์มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเพิ่มขึ้น 46% ในเดือนมีนาคม และ 75% ในเดือนเมษายน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนบริการส่งอาหารมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรในเดือนมีนาคมและเมษายนเพิ่มขึ้นถึง 300% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ช่วงเวลาการสั่งอาหารก่อนเที่ยงมีการเติบโตขึ้นมากจากก่อนหน้าช่วง COVID-19 น่าจะเป็นการหลีกเลี่ยงการกระจุกตัวของคำสั่งซื้อในช่วง 12.00-13.00 น. ทั้งนี้ พบว่า 92% ของลูกค้ามักใช้บริการผู้ให้บริการเพียงรายเดียวมากกว่าจะเปลี่ยนผู้ให้บริการไปมา จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับแบรนด์ผู้ให้บริการที่ควรเร่งสร้าง Brand Loyalty ในหมู่ลูกค้า
3.เว้นระยะห่าง แต่เชื่อมต่อกันด้วยเทคโนโลยี – อินกับอุปกรณ์ไอที และความบันเทิงออนไลน์
จากข้อมูลการใช้จ่ายผ่านบัตร พบว่า หมวดอุปกรณ์ไอที มียอดใช้จ่ายสูงขึ้น ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมีนาคม ก่อนที่จะเริ่มลดลงในเดือนเมษายน เนื่องจากนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม ส่งผลให้หลายบริษัทให้พนักงาน Work from Home โดยกลุ่มที่มียอดใช้จ่ายในหมวดนี้สูงสุดคือ กลุ่ม Gen Y นอกจากนี้ การใช้จ่ายในหมวดความบันเทิงออนไลน์ เช่น บริการสตรีมมิ่ง เกมออนไลน์ โซเชียลมีเดียในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน 2563 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เทียบกับค่าเฉลี่ยยอดใช้จ่ายในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
4.เน้นใช้จ่ายในสิ่งจำเป็น – ยอดใช้จ่ายหมวดซูเปอร์มาร์เก็ต เติบโตต่อเนื่อง
วิกฤติที่เกิดขึ้นทำให้ผู้บริโภคมีแนวโน้มใช้จ่ายในหมวดสินค้าฟุ่มเฟือยลดลง แต่หันมาใช้จ่ายในหมวดสินค้าจำเป็นเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหมวดซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งนี้ หมวดที่ได้รับผลกระทบคือ หมวดสายการบิน หมวดโรงแรมและหมวดท่องเที่ยว ซึ่งยอดใช้จ่ายผ่านบัตรลดลงถึง 100%, 89% และ 66% ตามลำดับในเดือนเมษายน 2563 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหมวดร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้า รวมถึงสินค้าแฟชั่น ลดลง 85%, 72% และ 77% ตามลำดับ ในทางตรงกันข้ามหมวดซูเปอร์มาร์เก็ตในเดือนมีนาคมเติบโตถึง 34% และมียอดใช้จ่ายรายวันเฉลี่ยเติบโตถึงสองเท่าเทียบกับยอดเมื่อปีที่ผ่านมา สำหรับพฤติกรรมการซื้อเห็นได้ชัดว่าเปลี่ยนไป โดยลูกค้าจำนวนมากใช้จ่ายในหมวดนี้ก่อนเวลา 12.00 น. โดยเฉพาะในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ และมีจำนวนการใช้จ่ายลดลงหลังเวลา 20.00 น. ยอดใช้จ่ายต่อครั้ง เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ราว 15% ในเดือนมีนาคม และมีการซื้อจำนวนมากในช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือนมีนาคม เนื่องจากประชาชนส่วนหนึ่งซื้อเพื่อกักตุนสินค้า ก่อนจะลดลงในเดือนเมษายน โดยยอดใช้จ่ายในหมวดนี้ในเดือนเมษายนเติบโต 2% และมียอดใช้จ่ายรายวัน ใกล้เคียงกับยอดใช้จ่ายรายวันของปีที่ผ่านมา
5.สนใจการออมและความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น – ยอดใช้จ่ายหมวดกองทุนรวมพุ่ง
ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในหมวดกองทุนรวม เพิ่มขึ้น 196% ในเดือนมีนาคม และ 157% ในเดือนเมษายน เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้เพื่อซื้อกองทุน SSF และยอดใช้จ่ายเพื่อชำระเบี้ยประกันกรมธรรม์ควบการลงทุน แสดงให้เห็นว่า กลุ่มผู้บริโภคที่ยังมีกำลังซื้อ หันมาให้ความสำคัญกับการออม และการลงทุน เพื่อความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น