Special Stories » “The Monk Studios” แอนิเมชั่นไทย…ไปโตในตลาดโลกได้อย่างไร?

“The Monk Studios” แอนิเมชั่นไทย…ไปโตในตลาดโลกได้อย่างไร?

14 กรกฎาคม 2020
0

Newscurveonline.com : อุตสาหกรรมแอนิเมชั่นถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตสูงในระดับโลก และมีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา ทั้งในด้านเทคนิคใหม่ ๆ และเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อเข้ามาช่วยสร้างสรรค์งาน

ในปี 2560 ตลาดแอนิเมชั่นในประเทศไทยมีมูลค่าประมาณ 3,799 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 1,482 ล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าในปี 2562 มูลค่าของตลาดแอนิเมชั่นในไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 4,025 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ผู้ผลิตงานโดยมีทรัพย์สินทางปัญญาของตนเอง (IP Owner) ผู้รับจ้างผลิตผลงานภายใต้ลิขสิทธิ์ของผู้อื่น (Outsource Service Provider) และผู้จำหน่าย นำเข้า และเป็นตัวแทนจำหน่าย (Distributor, Importer and Licensing agent) โดยตลาดเป้าหมายหลักที่สำคัญ คือ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลี ยุโรป

ปัจจุบันสตูดิโอผู้ผลิตแอนิเมชั่นไทยมีพัฒนาการทางด้านฝีมือมาก นักแอนิเมเตอร์หลายคนมีความสามารถที่เข้าตาต่างประเทศ มีผลงานระดับคว้ารางวัลในเวทีโลกอย่างมากมายการันตีความสามารถ เช่นเดียวกับ The Monk Studios (เดอะมั้งค์ สตูดิโอ) เป็นหนึ่งในสตูดิโอแอนิเมชั่นระดับแถวหน้าของเมืองไทย ผู้ผลิตผลงานในระดับเวิลด์คลาสที่มุ่งผลิตแอนิเมชั่นให้ต่างประเทศเป็นหลัก สร้างผลงานในต่างประเทศมาแล้วมากมายรวมทั้งฮอลลีวูด และนำผลงานแอนิเมชั่นไทยไปคว้ารางวัลระดับโลกหลายต่อหลายรางวัล

นายนิธิพัฒน์ สมสมาน กรรมการผู้จัดการ The Monk Studios เล่าว่า “เดอะมั้งค์ สตูดิโอ” เป็นสตูดิโอที่เชี่ยวชาญงานด้านแอนิเมชั่นสามมิติ (3D Animation) ไปจนถึงวิชวลเอฟเฟกต์ (Visual Effects) ผลิตผลงานทั้งภาพยนตร์ เกม โฆษณา แอนิเมชั่นซีรีส์ และอื่น ๆ โดยมีผลงานที่โดดเด่นในภาพยนตร์จอเงินฟอร์มใหญ่ระดับโลกอย่าง Journey To The West 2 (ไซอิ๋ว 2017), Animal World, Final Fantasy XV, Sky Fire, Stranded (เคว้ง), Rango, Talking Tom And Friends และหนังสั้นเรื่อง Nine

“เดอะมั้งค์ สตูดิโอ” เปิดดำเนินงานมาแล้ว 13 ปี เริ่มต้นจากการทำงานกันเพียง 3 คนจนปัจจุบันมีพนักงาน 140 คน โดยกลุ่มลูกค้านั้นส่วนใหญ่เป็นลูกค้าต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งได้มาจากการไปเข้าร่วมงานเทรดโชว์ใหญ่ๆ ในต่างประเทศที่มีผู้สนใจ หรือผู้ที่อยู่ในวงการคอนเทนต์ (Content) มารวมตัวกัน

“ทุกวันนี้แอนิเมชั่นไทยได้รับการยอมรับในต่างประเทศกว่าเมื่อก่อนมาก การสร้างเอกลักษณ์ของแอนิเมชั่นไทยไม่ใช่เรื่องยาก แต่จำเป็นต้องใส่ความเป็นสากลลงไปในเนื้อหา เพราะแอนิเมชั่นหนึ่งเรื่องสร้างเพื่อคนดูทั้งโลก ความเป็นสากลจึงต้องมาก่อน ความเป็นเอกลักษณ์ไทยนั้นอาจจะมีอยู่บ้างแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดซึ่งอาจจะสอดแทรกผ่านดนตรีประกอบ ฉาก หรือตัวละครที่มีศิลปะไทยก็ได้”

 

ข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ “ดีป้า” ระบุว่า ตลาดแอนิเมชั่นในประเทศไทยเป็นตลาดที่ค่อนข้างเล็ก ทำให้แอนิเมชั่นที่สร้างออกมาแม้มีความน่าสนใจ มีการทำการตลาดอย่างดี แต่ก็อาจไม่ประสบผลสำเร็จในการสร้างรายได้ ไม่คุ้มทุน ทำให้ผู้ประกอบการแอนิเมชั่นและผู้ประกอบการช่องทางจัดจำหน่ายไม่กล้าลงทุนในการผลิต หรือจำหน่ายมากนัก ผู้ประกอบการแอนิเมชั่นส่วนใหญ่จึงปรับปรุงเนื้อหาและคุณภาพโดยมุ่งหวังที่จะนำแอนิเมชั่นไปขายในระดับนานาชาติแทนที่จะพึ่งพาตลาดในประเทศแต่เพียงอย่างเดียว

นายนิธิพัฒน์ เล่าต่อไปว่า การไปร่วมงานเทรดโชว์ของอุตสาหกรรมแอนิเมชั่นเป็นช่องทางสำคัญที่จะทำให้ผลงานของนักแอนิเมเตอร์ไทยได้เข้าถึงตลาดต่างประเทศ เมื่อหลายปีก่อนได้ร่วมกับ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หรือ DITP ในการไปออกบูธในงานเทรดโชว์ใหญ่ๆ ทำให้มีโอกาสได้โชว์ผลงานให้กับนักลงทุน ลูกค้า หรือผู้ที่สนใจเป็นจำนวนมาก ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการไปแสดงงาน จึงเข้าร่วมโครงการ SMEs Pro-active ทำให้การเดินทางไปร่วมงานเทรดโชว์ 3 งานล่าสุดที่ผ่านมานี้ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากโครงการ

“ทั้ง 3 งานนั้นถือเป็นงานใหญ่ในแต่ละภูมิภาค ได้แก่  MIPCOM จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่เมืองคานส์ ประเทศฝรั่งเศส เป็นงานซื้อขายคอนเทนต์ที่ใหญ่ที่สุดของโลกงานหนึ่ง บัตรเข้างานมีราคาสูงเพื่อคัดกรองผู้ที่จะเข้ามาเจรจาซื้อขายคอนเทนต์โดยเฉพาะ ถือเป็นงานสำคัญที่ได้พบปะเจรจาการค้ากับผู้ประกอบการในสาขาแอนิเมชั่นในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นดิสทริบิวเตอร์ หรือนักลงทุน อีกงานคือ KidScreen Summit ที่ไมอามี่ สหรัฐอเมริกา เป็นงานที่มีลูกค้าจากฮอลลีวูดและแคนาดามาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ส่วนงาน Siggraph Asia ที่ออสเตรเลีย เป็นงานล่าสุดที่เดินทางเข้าร่วมภายใต้ โครงการ SMEs Pro-active ซึ่งเกี่ยวกับการแสดงเทคนิค อุปกรณ์ เทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เรียนรู้ Know-How และเครื่องมือที่จะช่วยให้ทำงานได้เร็วและสวยงามมากขึ้น”

การเข้าร่วมงานเทรดโชว์ในต่างประเทศของ The Monk Studios

“การได้มีโอกาสเข้าร่วมงานเหล่านี้ถือเป็นการสร้างโอกาสให้บริษัทฯ ได้มีโอกาสพบโปรดิวเซอร์ หรือนักลงทุน ได้เข้าร่วมเวิร์คชอปเพื่อพัฒนาทักษะและการใช้เครื่องมือต่างๆ งานพวกนี้จัดทุกปี การไปบ่อยๆ ทำให้ได้พบคนสำคัญจากทั่วโลก แต่ละภูมิภาคจะมีความต้องการไม่เหมือนกันไม่ว่าจะเป็น 3D หรือ 2D จึงทำให้ได้ลูกค้าที่หลากหลาย บุคลากรขององค์กรก็จะได้พัฒนาฝีมือมากขึ้นไปด้วย แต่ทุกการเดินทางไปต้องมีต้นทุน ค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าบัตรเข้าร่วมงาน หรือแม้แต่การเข้าร่วมเจรจาธุรกิจ ซึ่งการได้รับการสนับสนุนจากโครงการของรัฐบาลทำให้เราเข้าถึงคนเหล่านี้ได้สะดวกขึ้น”

โครงการ SMEs Pro-active เป็นโครงการที่เปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในธุรกิจหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม สินค้าแฟชั่น สินค้าไลฟ์สไตล์ นวัตกรรม อาหาร และกลุ่มผู้ประกอบการดิจิทัล คอนเทนต์ก็สามารถเข้าร่วมโครงการฯ เพื่อขอรับการสนับสนุนการเข้าร่วมงานเทรดโชว์ระดับโลกในภูมิภาคต่าง ๆ เช่นเดียวกับที่ “เดอะมั้งค์ สตูดิโอ” ได้เข้าร่วมมาแล้วเช่นกัน

สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการ SMEs Pro-active หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.0 2507 7783 หรือ 0 2507 7786

การเข้าร่วมงานเทรดโชว์ในต่างประเทศของ The Monk Studios