Special Stories » “แม็คโคร” จับมือ กรมส่งเสริมการเกษตร ยกระดับคุณภาพกล้วยหอมทองแปลงใหญ่โคราช

“แม็คโคร” จับมือ กรมส่งเสริมการเกษตร ยกระดับคุณภาพกล้วยหอมทองแปลงใหญ่โคราช

7 สิงหาคม 2020
0

Newscurveonline.com : เพราะ “แม็คโคร” เป็นธุรกิจค้าส่งสมัยใหม่ที่ขายอาหารสดเป็นส่วนใหญ่ ทำให้มีความผูกพันกับเกษตรกรไทยในฐานะผู้ผลิตสินค้าอย่างต่อเนื่องยาวนาน  โดยไม่ได้ทำหน้าที่เพียงแค่ “ซื้อมาขายไป” แต่เป็น “เพื่อนคู่คิด” ช่วยหาทางออกให้เกษตรกรไทยก้าวสู่ความเข้มแข็งไปด้วยกันมาตลอด 31 ปี

เช่นเดียวกับกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ ตำบลสุขไพบูลย์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ที่ซึ่ง “แม็คโคร” เข้าร่วมบูรณาการลงพื้นที่พัฒนากับ กรมส่งเสริมการเกษตร และบริษัท คิง ฟรุทส์ จำกัด เป็นเวลากว่า 4 ปี จนเกิดความเข้มแข็ง มีศักยภาพในการส่งผลผลิตกล้วยหอมทองคุณภาพปลอดภัยปีละ 1 พันตัน สร้างรายได้ให้ชุมชนไม่ต่ำกว่าปีละ 12 ล้านบาท

พลิกแนวคิด ปรับวิถีเพาะปลูก

นางจุฑารัตน์ พัฒนาทร ผู้อำนวยการฝ่ายประกันคุณภาพ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เดิมทีกล้วยหอมทองมีแหล่งใหญ่ในการเพาะปลูกแถวจังหวัดปทุมธานี  พระนครศรีอยุธยา สระบุรี  แต่มีปัญหาจากผลกระทบทางธรรมชาติจากลมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ส่งผลให้ผลผลิตเสียหาย “แม็คโคร” จึงบูรณาการความร่วมมือกับ กรมส่งเสริมการเกษตร  และบริษัท คิง ฟรุทส์ จำกัด ในการมองหาพื้นที่การเพาะปลูกใหม่ เน้นพื้นที่ที่เกษตรกรรวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่เป็นสำคัญ

สำหรับพื้นที่เกษตรเป้าหมายที่ได้รับการแนะนำในครั้งนั้นอยู่ที่ ตำบลสุขไพบูลย์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเดิมนิยมปลูกพืชล้มลุก เช่น มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทำให้มีปัญหาความไม่แน่นอนของตลาด ประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาด ราคาตกต่ำ อีกทั้งยังต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เมื่อ “แม็คโคร” กรมส่งเสริมการเกษตร และบริษัท คิง ฟรุทส์ จำกัด เข้ามาแนะนำส่งเสริมการปลูกกล้วยหอมทอง ทางเกษตรกรได้รวมกลุ่มตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ทำการเกษตรในเชิงธุรกิจด้วยการวางเป้าหมายในการปลูกและจำหน่ายกล้วยหอมทองปลอดภัยที่ต้องได้มาตรฐานการเพาะปลูกและผลิตอย่างที่แม็คโครกำหนดไว้ นั่นคือ ผลผลิตต้องได้คุณภาพ เน้นย้ำเรื่องอาหารปลอดภัยตลอดกระบวนการ  มีวิธีจัดการลดต้นทุนเพิ่มผลิต  เพื่อให้กล้วยหอมของเรามีคุณภาพแตกต่าง

พัฒนาคุณภาพเพื่อต่อยอด

นางจุฑารัตน์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่ 3 หน่วยงานร่วมกันทำงานช่วยเหลือเกษตรกรนี้เพื่อต้องการยกระดับคุณภาพการเพาะปลูก ส่งเสริมการตลาด และสร้างเครือข่ายเกษตรแปลงใหญ่ที่มีความเข้มแข็ง โดย กรมส่งเสริมการเกษตร ได้ลงพื้นที่ให้ความรู้ ปรับวิธีการปลูก การใช้ปุ๋ย น้ำให้ถูกกับลักษณะกับผลผลิตที่ปลูก ขณะที่ “แม็คโคร” เข้าไปช่วยเสริมปรับปรุงกระบวนการผลิต บรรจุ และการตลาด โดยเน้นย้ำคุณภาพอาหารปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิตจนถึงมือผู้บริโภค

พื้นที่ปลูกกล้วยหอมแปลงใหญ่ใช้เวลาปรับปรุงอยู่นาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ โดยได้รับคำแนะนำให้ใช้ระบบสปริงเกอร์ เพื่อความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ รวมทั้งการควบคุมการใช้สารเคมี การใช้ปุ๋ยธรรมชาติที่ “แม็คโคร” เข้มงวด

“แม็คโครให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพอาหารปลอดภัยเป็นสำคัญ ดังนั้นเกษตรกรที่จะส่งผลผลิตให้กับแม็คโครจึงต้องเรียนรู้กระบวนการอื่น ๆ เพื่อเข้าใจในการผลิตปลอดภัยตลอดห่วงโซ่ โดยใช้หลักวิชาการด้านการบริหารจัดการสวน เทคโนโลยีการจัดการดูแล การป้องกันโรค รวมถึงการสร้างผลผลิตที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคภายใต้มาตรฐาน GAP ซึ่งสมาชิกของกลุ่มนี้ได้การรับรองมาตรฐาน GAP เรียบร้อย ส่งขายผลผลิตกล้วยหอมทองคุณภาพปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกษตรกรคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยตลอดกระบวนการผลิต”

เคียงข้างเกษตรกรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน

นางจุฑารัตน์ กล่าวว่า ในช่วง 2 ปีแรกเกษตรกรกลุ่มนี้ยังไม่ค่อยชัดเจนนัก จนเข้าสู่ปีที่ 3 ปีที่ 4 เกษตรกรมีการพัฒนาและเมื่อเขาได้เห็นประสิทธิภาพการเพาะปลูกผลผลิตที่ผ่านการวางแผน บริหารจัดการภายใต้ ตลาดนำการผลิตแล้วก็ทำให้ผลผลิตกล้วยหอมทองของที่นี่มีตลาดมั่นคงและเติบโต จากเริ่มต้นมีพื้นที่เพาะปลูกรวม 300 ไร่ ปัจจุบันได้ขยายเป็น 700 ไร่ มีผลผลิต 1 พันตันต่อปี สร้างรายได้ให้เกษตรกรสมาชิกกลุ่มที่มีกันอยู่ราว 200-300 ราย รวมมูลค่ากว่า 12 ล้านบาท

สำหรับกล้วยหอมทองจากแหล่งเพาะปลูกนี้ “แม็คโคร” รับซื้อในลักษณะเป็นหวี กระจายให้สาขาในเขตพื้นที่ภาคอีสาน และส่วนหนึ่งส่งเข้าศูนย์กระจายสินค้า “แม็คโคร” เพื่อกระจายไปยังสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ

อนาคตของเกษตรแปลงใหญ่ ตำบลสุขไพบูลย์ อำเภอเสิงสาง จังหวัดนครราชสีมา มีแนวโน้มสดใสไปได้สวย แม้ในยามสถานการณ์วิกฤติ COVID-19 ก็ยังมองเห็นการเติบโตในทุกมิติ ทั้งการขยายพื้นที่การเพาะปลูกในอีก 2-3 ปีข้างหน้าให้เป็น 3 พันไร่ รวมการเพิ่มจำนวนเกษตรกรแปลงใหญ่อีก 100 ราย

นับว่า ความร่วมมือที่เกิดขึ้นตอกย้ำโมเดลความสำเร็จของ “ตลาดนำการผลิต” สร้างความมั่นคงด้านอาหารปลอดภัยให้มีเครือข่ายกว้างขวาง นำรายได้มาสู่ชีวิตเกษตรกรไทยอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน