Special Stories » สภาอุตฯ ระดมความเห็นหาทางออก “สารเคมี” มุ่งการใช้เพื่อความยั่งยืน

สภาอุตฯ ระดมความเห็นหาทางออก “สารเคมี” มุ่งการใช้เพื่อความยั่งยืน

3 กันยายน 2020
0

Newscurveonline.com : กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พร้อมนักวิชาการจากหลากหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมให้ความเห็นบนเวทีเสวนา “เคมี พระเอก หรือ ผู้ร้าย” ชี้ “เคมี” สำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้า เผยไม่มีสารเคมีใดไม่เป็นอันตราย ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและการรู้จักใช้สารเคมีอย่างรับผิดชอบต่อสังคม เชื่อแนวคิดการบริหารจัดการเคมีเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการใช้เคมีเพื่อประโยชน์ของประเทศในอนาคต

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) จัดให้มีการเสวนาเรื่อง “เคมี…พระเอก หรือผู้ร้าย” ณ ห้องบอลรูมชั้น 7 โรงแรมแลนด์มาร์ค กรุงเทพฯ โดยมี นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้เกียรติเป็นประธานกล่าวเปิดงานว่า การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะทำให้สังคมได้ตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของสารเคมี การจัดการสารเคมีตามหลักสากล ในด้านการผลิตและการใช้สารเคมีอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

อุตสาหกรรมเคมีเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมต้นน้ำของหลายอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างมาก อาทิ ปิโตรเคมี พลาสติก ยา เกษตร อาหาร ยานยนต์ เป็นต้น ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้ถือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ โดยการส่งออกเคมีภัณฑ์ ในปี 2562 มีมูลค่ากว่า 1.02 แสนล้านบาท สูงเป็นลำดับที่ 7 ของมูลค่าการส่งออกทั้งประเทศ ขณะเดียวกันยังมีการนำเข้าเคมีภัณฑ์เพื่อนำมาใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับอุปโภค-บริโภคในประเทศ คิดเป็นมูลค่ากว่า 4.8 แสนล้านบาท ถือเป็นลำดับที่ 4 ของสินค้าที่มีการนำเข้าของไทย

“สารเคมีจึงเข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ นับแต่ลืมตาตื่นนอนจนถึงเข้านอน ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องปรุงอาหาร ยารักษาโรค เครื่องสำอาง และอื่น ๆ อีกมากมาย ล้วนเป็นผลิตผลมาจากสารเคมี หรือปฏิกิริยาทางเคมีทั้งสิ้น นอกจากนี้ ในภาคเกษตรกรรมยังมีการนำไปใช้สำหรับการป้องกันกำจัดศัตรูพืชและสัตว์อีกด้วย ซึ่งในทางกลับกันหากใช้สารเคมีอย่างผิดวิธีก็อาจนำมาสู่ผลกระทบในแง่ลบต่อการดำรงชีวิตในหลาย ๆ ด้านเช่นกัน ดังนั้น การให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยและการบริหารจัดการสารเคมีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง” นายเกรียงไกร กล่าวในตอนท้าย

ด้าน นางสาวเพชรรัตน์ เอกแสงกุล ประธานกิตติมศักดิ์ / กรรมการคณะกรรมการกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี กล่าวเพิ่มเติมว่า การเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาจากองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน มาร่วมให้ความเห็นและแสดงวิสัยทัศน์ในการบริหารจัดการเคมีที่จะเป็นประโยชน์ต่อการใช้เคมีของประเทศไทยทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยมุ่งเน้นการใช้สารเคมีเพื่อให้เกิดความยั่งยืนและสามารถผลักดันเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าและสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก พร้อมกันนี้ ยังได้หยิบยกกรณีศึกษาการแบน 3 สารเคมีคือ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญและกำลังเป็นที่สนใจของสังคมขณะนี้มาพูดคุยและเสนอมุมมองที่น่าสนใจให้สังคมได้พิจารณาอีกด้วย

“ในงานเสวนาครั้งนี้ มีผู้เข้ารับฟังจากทุกภาคส่วน ทั้งผู้บริหารจากองค์กรภาครัฐ กลุ่มผู้ผลิต ประชาชนที่สนใจ และสื่อมวลชน จำนวนรวมกันมากกว่า 150 คน ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความเห็นและมุมมองของนักวิชาการที่ให้เกียรติมาในวันนี้จะทำให้สังคมเกิดความเข้าใจในบทบาทของสารเคมี ให้ความสำคัญกับการใช้งานและการบริหารจัดการเคมี และร่วมกันพัฒนา ต่อยอด ประสานการทำงานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีตามหลักสากล เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุดเป็นสำคัญ” นางสาวเพชรรัตน์ กล่าว

“เคมี” ต้องใช้เท่าที่จำเป็นและเหมาะสม

สำหรับการเสวนาในหัวข้อแรกคือ “พระเอกในชีวิตประจำวัน” โดย รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า หลายคนมักจะมองว่า“สารเคมี” อันตราย แต่จริง ๆ แล้ว ทุกสิ่งในโลกนี้นั้นล้วนเกิดมาจากองค์ประกอบทางเคมีทั้งสิ้น ร่างกายของเราประกอบด้วยสารเคมีหลายร้อยหลายพันชนิด สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทำคือ การพัฒนาวิธีการที่จะทำให้เกิดองค์ประกอบทางเคมีใหม่ ๆ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าจะในชีวิตประจำวัน การแพทย์ เกษตรกรรม อุตสาหกรรมต่าง ๆ เป็นต้น

“สารเคมีสามารถเป็นได้ทั้งพระเอกและผู้ร้าย โดยสารเคมีจะอันตรายเพียงใดขึ้นอยู่กับระดับของความเป็นพิษและปริมาณที่ได้รับเข้าไป มีสารเคมีหลายชนิดที่ถ้าเราได้รับเข้าไปเพียงเล็กน้อยก็เกิดอันตรายได้ เช่น ถ้าได้รับสารหนูเข้าไปเพียงแค่ 52 มิลลิกรัม ก็ถึงตายได้ ขณะเดียวกันถ้าดื่มน้ำเปล่าเข้าไป 6 ลิตร ภายในเวลา 1 ชั่วโมง คนคนนั้นก็มีสิทธิที่จะตายได้เช่นกันจากการได้รับน้ำมากเกินไป จะเห็นว่าทั้งสารหนูและน้ำเปล่าเป็นอันตรายได้ทั้งคู่ขึ้นอยู่กับปริมาณที่ร่างกายได้รับเข้าไป ดังนั้น การใช้สารเคมีแต่ละชนิดจึงควรใช้เท่าที่จำเป็นและในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อจะได้ไม่ส่งผลเสียต่อชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเราสามารถใช้ผลิตภัณฑ์สารเคมีได้อย่างปลอดภัย”

ยกระดับการจัดการด้านความปลอดภัยด้วยหลัก Responsible Care®

นายเฉลิมศักดิ์ กาญจนวรินทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัทฮาซเคมโลจิสติกส์แมเนจเมนท์ จำกัด ประธานกลุ่ม Responsible care ® ดูแลด้วยความรับผิดชอบ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า อุตสาหกรรมเคมีเป็นอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ ในปี 2551 สร้างรายได้ทั่วโลกมากกว่า 3,347 พันล้านยูโร การเจริญเติบโตของภาคอุตสาหกรรรมเคมีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2551 เทียบเคียงกับ 2561) พบว่าตลาดในประเทศจีนและภูมิภาคเอเชียมีการเจริญเติบโตสูงมากเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่น ๆ

อุตสาหกรรมเคมีในประเทศไทยถือเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับประเทศ การพัฒนาด้านศาสตร์ทางเคมีก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีในด้านความเป็นอยู่ ของประชากรโลกในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เช่น การคิดค้นยารักษาโรค การผลิตน้ำดื่มที่สะอาด พลังงานหมุนวน ผลผลิตทางการเกษตร ภาคก่อสร้าง และขนส่ง เป็นต้น แต่ภาพสะท้อนในแง่ลบต่ออุตสาหกรรมเคมีก็ยังเกิดขึ้นอยู่เสมอ เช่น การเกิดอุบัติเหตุ

นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวอีกว่า หลัก Responsible Care® ดูแลด้วยความรับผิดชอบ จึงได้ก่อกำเนิดขึ้น เพื่อเป็นความยืดมั่นถือมั่นของภาคอุตสาหกรรมในการยกระดับการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องและเป็นแนวทางที่ถือปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 2528 ในมากกว่า 68 ประเทศเศรษฐกิจทั่วโลก เพื่อการใช้และผลิตสารเคมีที่ลดผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์และสิ่งแวดล้อม

สำหรับประเทศไทยนั้นกลุ่ม Responsible Care® ดูแลด้วยความรับผิดชอบ ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 2539 ภายใต้กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสมาชิกและภาคอุตสาหกรรมเคมีให้นำแนวปฏิบัติด้านการจัดการ ทั้ง 6 ด้าน ไปใช้ในบริบทการบริหารจัดการองค์กร ประกอบด้วย การตระหนักรู้ของภาคประชาสังคมและการระงับเหตุฉุกเฉิน ความปลอดภัยของกระบวนการผลิต การป้องกันมลพิษ สุขอนามัยและความปลอดภัยของพนักงาน การขนส่งและกระจายสินค้า และการดูแลผลิตภัณฑ์ตลอดวงจรชีวิต

“Responsible Care® ถือได้ว่าเป็นปรัชญาในการบริการจัดการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นหัวใจและกลไกการขับเคลื่อนที่สำคัญอันจะส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมเคมีในเวทีการค้าโลก ทั้งในภาพเศรษฐศาสตร์และความเป็นเลิศในด้านจัดการสารเคมีที่ดีที่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และความเสี่ยงอีกด้วย” นายเฉลิมศักดิ์ กล่าว

“เคมีกรีน” ทำผลิตภัณฑ์ให้เป็นมิตรกับทุกฝ่าย

ศาสตราจารย์ ดร.ศุภวรรณ ตันตยานนท์ นายกสภาวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, ผู้เชี่ยวชาญ Green Chemistry ได้ให้ความเห็นเรื่อง Green Chemistry หรือ “เคมีกรีน” ว่า เวลาพูดถึงกรีน ไม่ได้แปลว่า เราจะไม่ใช้สารเคมี อยากให้เข้าใจว่า เคมีกรีนไม่ได้แปลว่าจะไม่ใช้สารเคมีเลย แต่คำว่ากรีนในที่นี้หมายถึงการทำให้ได้ผลิตภัณฑ์เคมีที่ต้องการโดยที่ไม่เป็นอันตรายต่อทั้งผู้ทำ ผู้ใช้ และสิ่งแวดล้อม เราก็ยังคงต้องใช้สารเคมีแต่ทำการออกแบบให้ลดความเป็นอันตรายลง เพราะรอบตัวของมนุษย์หรือทุกสิ่งทุกอย่างที่เราใช้คือสารเคมีทั้งสิ้น และสารเคมีทุกชนิดมีทั้งประโยชน์และโทษ ขึ้นอยู่กับว่าคุณสมบัติของสารว่าเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับผู้ใช้ว่าใช้อย่างไรตลอดจนการจัดการ หากผู้ใช้มีความเข้าใจสามารถทำได้ถูกต้องตามข้อควรระวัง รู้จักป้องกันตนเอง การใช้งานก็จะไม่เกิดอันตรายเพราะสารเคมีที่เป็นอันตราย แต่ถ้ารู้จักวิธีจัดการและปฏิบัติได้อย่างถูกต้องก็จะใช้ประโยชน์ได้อย่างดียิ่ง ซึ่งหลักการของเคมีกรีนนี้จะต้องทำให้สมดุลกันใน 3 เรื่อง คือ ความปลอดภัย ค่าใช้จ่าย และผลผลิตที่ได้ตามความต้องการ เพื่อให้เกิดเป็นความยั่งยืนและจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น

ลดความเสี่ยงจากการใช้สารเคมี

ดร.นวลศรี ทยาพัชร ผู้เชี่ยวชาญ คณะทำงานสารตกค้างทางการเกษตร JMPR (FAO/WHO) และอดีตผู้อำนวยการกองวัตถุมีพิษ กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ในปี 2528 องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้ร่างจรรยาบรรณขึ้นมา เรียกว่า “International Code of Conduct on the Distribution and Use of Pesticides” เป็นจรรยาบรรณให้แก่ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ผู้ใช้สารเคมี รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตามแต่ไม่ใช่กฎหมาย โดยกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อปกป้องสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม ต่อมาองค์การอนามัยโลก (WHO) โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติได้เข้ามาร่วม (UNEP) จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น “The International Code of Conduct on Pesticide Management” และได้ขยายคำแนะนำให้ครอบคลุมถึงสารเคมีที่ใช้ทางสาธารณสุข และสารเคมีที่ใช้ในบ้านเรือน ซึ่งได้รับการยอมรับว่าคำแนะนำเหล่านี้ล้วนมีประโยชน์แก่การปฏิบัติตามทั้งสิ้น โดยเฉพาะแนวทางการขึ้นทะเบียนสารเคมี การยกเลิกใช้สารฯ เมื่อเข้าใจว่ามีอันตรายและผลกระทบ ต้องใช้หลักการ Risk Assessment ที่เป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์ รวมทั้งต้องดู Risk Management ประกอบด้วยว่าความอันตรายที่มีพิษและเกิดขึ้น สามารถบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงได้ไหม เช่น สารที่มีความเข้มข้นสูงอาจจะเปลี่ยนลดปริมาณการใช้ เปลี่ยนสูตร เปลี่ยนวิธีการใช้ รวมทั้งปรับสภาวะต่าง ๆ ตามบริบทของแต่ละประเทศ ถ้าบริหารลดความเสี่ยงลงไม่ได้จึงจะพิจารณาระงับการใช้ หรือ Cancellation

สำหรับประเทศไทย การบริหารจัดการเพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้สารเคมี ไม่ว่าจะเป็นสารเคมีเกษตร อุตสาหกรรมและสาธารณสุข ได้มีการดำเนินงานโดยองค์กรระหว่างประเทศหลายหน่วยงานที่ให้ข้อมูลความรู้และแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้อง ช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจ สามารถนำมาปรับใช้กับประเทศได้ซึ่งสิ่งสำคัญคือ ต้องศึกษาทำความเข้าใจกับข้อมูลต่าง ๆ และปรับให้เข้ากับบริบทของแต่ละประเทศ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ก็จะได้ข้อมูลที่เหมาะสม ช่วยแก้และบรรเทาปัญหาต่าง ๆ ลงได้ นอกจากนี้ยังสามารถนำสารเคมีเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ในกิจการต่าง ๆ เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจของชาติให้เติบโตอย่างยั่งยืน

“เคมี” เหมือนกับเหรียญสองด้าน

ส่วนการเสวนาในหัวข้อ “กรณีศึกษาที่เคมีถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ร้าย” ดร.ชัยภัฏ จันทร์วิไล เลขานุการประจำคณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ปัจจุบันเมื่อพูดถึง “เคมี”  มักจะถูกสังคมมองถึงด้านลบเพียงด้านเดียว ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการเป็นผู้ร้ายของสังคม และถูกมองว่าเป็นสิ่งอันตราย เป็นภัยต่อผู้ใช้โดยส่วนรวม แต่เราทุกคนลืมไปหรือไม่ว่า “เคมี” ก็เหมือนกับเหรียญสองด้าน มิได้ให้ผลต่อผู้ใช้เพียงด้านเดียว แต่ยังมีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ในทุกวันนี้ เพียงแต่เราต้องใช้อย่างถูกวิธี ยกตัวอย่างเช่น กรณีการแบน 3 สารเคมีทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเสต เป็นสารเคมีที่มีความสำคัญต่อเกษตรกรเป็นอย่างมากในการกำจัดแมลงและวัชพืชที่รบกวนการเพาะปลูก

สำหรับผลกระทบต่าง ๆ ต่อสุขภาพที่มีการอ้างอิงถึงเกิดขึ้นจากการใช้สารเคมีอย่างไม่ถูกต้อง ขาดความรู้ในเรื่องใช้อย่างแท้จริง ในวันนี้เราจึงตั้ง “เครือข่ายการใช้เคมีปลอดภัย เพื่อการใช้เคมีอย่างยั่งยืนแห่งประเทศไทย” หรือ “Network of Safety Chemical Usage for Sustainable Development of Thailand” (NSCU) ซึ่งเกิดจากความมือระหว่างหน่วยงานภาคเอกชน ภาคการเกษตร และภาคการเมือง เพื่อเป็นเครือข่ายที่จะลุกขึ้นมาให้ความรู้ ความเข้าใจ การใช้สารเคมีอย่างปลอดภัยและยั่งยืนแก่สังคมไทย

แจงมูลเหตุข่าวสารเคมีตกค้าง “น่าน-หนองบัวลำภู”

ด้าน ดร.จรรยา มณีโชติ นายกสมาคมวิทยาการวัชพืชแห่งประเทศไทย กล่าวถึงประเด็นของข่าวการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในน้ำดื่ม จ.น่าน เกินค่ามาตรฐานสากล ว่า ข่าว “โรคเนื้อเน่า” สาเหตุจากพาราควอตที่ จ.หนองบัวลำภู และการตกค้างของพาราควอตในซีรั่มแม่และในขี้เทาทารก เป็นข่าวที่ทำให้สังคมเกิดความตื่นตระหนกว่า เกษตรกรไทยใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชมากจนผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมไม่ปลอดภัย จนเกิดวาทกรรม “สารพิษอาบแผ่นดิน” แต่จากการสืบค้นหาความจริง พบว่า น้ำดื่มเมืองน่านยังปลอดภัย แต่นักวิจัยอ้างค่ามาตรฐานผิดจากความจริง และเมื่อลงพื้นที่หาสาเหตุโรคเนื้อเน่า เมื่อเดือนธันวาคม 2562 เก็บตัวอย่างตะกอนดินและน้ำไปวิเคราะห์ผลคือ ไม่พบการตกค้างของพาราควอต แต่พบเชื้อแบคทีเรียสาเหตุของโรคเนื้อเน่า ส่วนงานวิจัยพาราควอตในขี้เทาทารก พบว่ามีข้อน่าสงสัยหลายประการในวิธีการทดลองของนักวิจัย ดังนั้น สมาคมฯ จึงเสนอขอทบทวนมติการแบนพาราควอต

“เป็นที่น่าสังเกตว่า ขั้นตอนการพิจารณายกเลิกการใช้พาราควอต ไม่ใช่ขั้นตอนปกติของ กรมวิชาการเกษตร นอกจากการแบนสารอย่างเร่งรีบแล้ว ยังไม่มีความพร้อมของสารทดแทนที่มีคุณสมบัติ ประสิทธิภาพและราคาที่ใกล้เคียงกับพาราควอต ไม่มีชีวภัณฑ์กำจัดวัชพืชที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง มีแต่ชีวภัณฑ์ปลอมปนด้วยสารพาราควอต และไกลโฟเซต”

ยกตัวอย่าง ขั้นตอนการแบนสารในสหภาพยุโรป เช่น สารกำจัดวัชพืชกลูโฟซิเนต เริ่มต้นด้วยการให้ข้อมูลจากเครือข่ายเฝ้าระวังสารเคมีฯในเอเชียแปซิฟิค (PANAP) ตั้งแต่ปี 2551 ต่อมา EFSA ได้เริ่มขั้นตอนประเมินความเสี่ยงและพิจารณาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เมื่อพบว่า กลูโฟซิเนต เป็นพิษต่อระบบประสาท ทำให้ระบบสืบพันธุ์และการเจริญของทารกผิดปกติ และเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม จนนำไปสู่การประกาศยกเลิกการใช้ในปี 2561 ซึ่งกระบวนการใช้เวลานานถึง 13 ปี ทำให้เกษตรกรและผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวที่จะหาวิธีการหรือสารทดแทน และ phase out สินค้าออกจากตลาด

เมื่อพาราควอตถูกแบนไปเมื่อ 1 มิถุนายน 2563 กษ.ประกาศให้เวลาเกษตรกร 90 วัน เพื่อนำพาราควอตมาส่งคืนเพื่อเผาทำลายภายใน 29 สิงหาคม 2563 แต่ อย. กลับผ่อนผันให้ภาคอุตสาหกรรมนำเข้าสินค้าเกษตรจากประเทศที่ยังใช้พาราควอตและมีค่าตกค้างไม่เกินค่ามาตรฐาน CODEX  ไปจนถึง 1 มิถุนายน 2564 ทำให้เกิดตำถามสำหรับผู้บริโภคว่า พาราควอตตกค้างนิดเดียวก็อันตราย แต่ทำไมยังอนุญาตให้นำเข้าอาหารที่ปนเปื้อนพาราควอตมาให้คนไทยบริโภค สรุปว่าตกค้างไม่เกินมาตรฐานไม่อันตราย แต่ทำไมไม่อนุญาตให้เกษตรกรใช้ไปจนถึงปีหน้า ภายใต้มาตรการจำกัดการใช้และในระหว่างการผ่อนผัน ควรตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิจากสองฝ่ายมาร่วมกันทบทวนหลักฐานที่ใช้ประกอบการแบนพาราควอตว่าถูกต้องตามหลักวิทยาศาสตร์ที่น่าเชื่อถือหรือไม่ เพื่อลดความขัดแย้งและความไม่เสมอภาคที่เกิดขึ้นในสังคมไทย

สมาคมฯ เห็นว่า การให้ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชแก่เกษตรกร และสนับสนุนแนวทางการปฏิบัติทางเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) หรือเกษตรปลอดภัย จะเป็นทางออกที่ถูกต้องและยั่งยืนสำหรับภาคเกษตรไทย

“สารเคมี” ร้ายหรือดี สำคัญที่ “คนใช้”

ศาสตราจารย์นายแพทย์ วินัย วนานุกูล รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และหัวหน้าศูนย์พิษวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ให้ความเห็นว่า ในมุมมองของนักพิษวิทยา มองว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นพิษได้ ในขณะเดียวกันทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นประโยชน์ สารเคมีสามารถเป็นยาได้ แต่สิ่งที่แยกกันระหว่างสารเคมีที่อันตรายกับสารเคมีที่จะเป็นยาคือ “ปริมาณที่ได้รับเข้าไปในร่างกาย” สารเคมีไม่ได้เป็นผู้ร้าย หรือพระเอก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนที่นำไปใช้ที่สามารถใช้ได้อย่างถูกต้องหรือไม่ เพราะถ้านำไปใช้ในปริมาณที่ถูกต้อง สารเคมีจะกลายเป็นยา เป็นประโยชน์ให้กับผู้ป่วย แต่ถ้าใช้ในปริมาณหรือในทางที่ผิด สารเคมีก็จะกลายเป็นผู้ร้าย เป็นตัวอันตราย เพราะฉะนั้นจึงอยู่ที่เราเป็นคนบริหารจัดการ

ข้อมูลจากศูนย์พิษวิทยา พบว่าภาวะเกิดพิษของสารกำจัดศัตรูพืช ประมาณ 64% นำไปทำร้ายตัวเอง 30% เกิดจากอุบัติเหตุ เช่นเก็บไม่ดี ถ่ายภาชนะบรรจุลงในขวดเครื่องดื่ม และมีเพียง 4% ที่เกิดจากการใช้ไม่ถูกต้อง เช่น ใช้อัตราสูง เสื้อผ้า อุปกรณ์ป้องกันตนเองไม่เหมาะสม ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องมีความรับผิดชอบในการใช้ยา ใช้สารเคมี รวมทั้งผู้ผลิต ผู้จำหน่าย หรือผู้ใช้สารเองก็ต้องมีความรับผิดชอบร่วมกัน และการที่จะหาสารมาตัวใหม่มาทดแทนสารตัวเก่าที่จะยกเลิก ผู้เกี่ยวข้องควรมีการศึกษาความปลอดภัยของสารตัวที่จะนำมาทดแทนอย่างถ่องแท้ เพราะสารทุกอย่างในโลกเป็นได้ทั้งประโยชน์และโทษ ต้องดูให้ดีว่าจะเป็นอันตราย หรือมีผลกระทบอย่างอื่นหรือไม่

“ถ้าเกิดคิดว่าสารที่ต้องการให้เลิกใช้แล้วไม่สามารถหาสารที่ทดแทนที่เหมาะสมดีพอให้กับผู้ใช้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ผู้บริโภคก็อยากกลับไปใช้ของเดิม และผลที่จะตามมาคือ 1.กระบวนการที่เรียกว่าของปลอม ไปอยู่ใต้ดินแทนก็ทำให้ควบคุมได้ยากขึ้น 2. ตัวสารเคมีตัวเก่า แต่มาในรูปลักษณ์ใหม่ทำให้คนที่มีหน้าที่ควบคุมจับได้ยากขึ้นซึ่งก็จะมีผลกับคนไข้ที่ได้รับสารพวกนี้ ทางแพทย์วินิจฉัยได้ยาก เพราะไม่สามารถบอกได้ว่ารับสารตัวไหนหรือรู้แต่ไม่กล้าบอก ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวคนไข้ได้อีกเช่นกัน”

ศาสตราจารย์นายแพทย์ วินัย กล่าวในตอนท้ายว่า สารเคมี ล้วนเป็นเหรียญที่มี 2 ด้าน มีทั้งประโยชน์และโทษคู่กัน ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการใช้ชีวิตอยู่คู่กับสารเคมีที่เราไม่สามารถปฏิเสธได้คือ อ่านฉลากก่อนใช้งาน รู้จักสัญลักษณ์สารเคมี และสวมถุงมือ หรืออุปกรณ์ป้องกันตนเองก่อนใช้ผลิตภัณฑ์เคมี ตลอดจนการใช้ตามคำแนะนำและปริมาณที่กำหนด เพื่อการใช้เคมีให้ปลอดภัย และปราศจากสารตกค้าง ตลอดจนสารปนเปื้อนในอาหาร แล้วสังคมจะอยู่คู่กับเคมีได้อย่างปลอดภัย และสามารถพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน