Newscurveonline.com : มาเลเซียถือเป็นอีกหนึ่งตลาดที่น่าจับตามองของผู้ส่งออกสินค้าจากประเทศไทยและยังอยู่ใกล้ประเทศไทยด้วย หากเปรียบเทียบประชากรตามช่วงอายุระหว่างประเทศไทยและมาเลเซียจะพบว่า มาเลเซียยังมีประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุที่น้อยกว่าประชากรของไทยโดยประชากรในช่วงอายุระหว่าง 0-14 ปี คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งหมายถึงศักยภาพของตลาดที่จะรองรับสินค้าและบริการสำหรับเด็กและทารกจากประเทศไทยได้
นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า สินค้าสำหรับเด็กเป็นสินค้าที่สามารถจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี แต่มีการแข่งขันสูงทั้งจากแบรนด์ที่ผลิตในมาเลเซียและแบรนด์บริษัทข้ามชาติ ผู้ผลิตสินค้าสำหรับเด็กจำเป็นต้องมีการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ อยู่เสมอเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความแตกต่าง โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยสินค้าที่ผลิตภายในประเทศยังคงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคมาเลเซีย เนื่องจากหาซื้อได้ง่าย ราคาย่อมเยา และมีคุณภาพที่ยอมรับได้ ส่วนสินค้าจากต่างประเทศที่เป็นที่นิยม ได้แก่ รถเข็นเด็ก คาร์ซีท และเปลเด็ก เนื่องจากมีการออกแบบที่ดี ฟังก์ชันหลากหลาย สวยงามและทันสมัยมากกว่าสินค้าในประเทศ
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สรุปข้อมูลจาก The Nielsen Global Survey ที่สำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคมาเลเซียในปี 2559 โดยคาดการณ์ว่าประชากรมาเลเซียจะเพิ่มขึ้นเป็น 34.9 ล้านคนในปี 2568 โดยมีประชากร 1 ใน 4 เป็นทารกและเด็ก
- มั่นใจในแบรนด์และดีต่อสุขภาพ
ผู้บริโภคมาเลเซียเกือบร้อยละ 50 ให้ความสำคัญกับแบรนด์สินค้าที่เชื่อถือได้ ดังนั้น ผู้ประกอบการผลิตสินค้าสำหรับเด็กและทารกที่ต้องการขยายตลาดในมาเลเซียจะต้องมีการลงทุนเพื่อสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับในตลาด นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคมาเลเซียคำนึงถึงเมื่อต้องการเลือกซื้อสินค้า อาหารสำหรับเด็กและทารก ได้แก่ คุณค่าทางโภชนาการโดยรวมที่ดี (Overall Nutrition) รองลงมาเป็นส่วนผสมและขั้นตอนการผลิตที่มีความปลอดภัยได้มาตรฐาน ตามมาด้วยปัจจัยราคา หรือมูลค่า
- การเลือกแบรนด์ผ้าอ้อม
ผู้บริโภคมาเลเซียเกือบร้อยละ 80 มีการเปลี่ยนยี่ห้อผ้าอ้อมในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจัยหลักในการเปลี่ยนแบรนด์ที่ใช้มาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การส่งเสริมตราสินค้า (Brand Promotion), การแนะนำจากเพื่อนและครอบครัว และปัจจัยด้านราคา
- เชื่อผู้นำทางความคิด
ผู้บริโภคมาเลเซียร้อยละ 40 มักจะหาคำแนะนำจากเพื่อนและครอบครัวก่อนตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ส่วนอีกร้อยละ 36 จะหาคำแนะนาจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพเด็ก สำหรับสินค้าอาหาร ผู้บริโภคจะใช้แหล่งข้อมูลจากทั้งจากออฟไลน์และออนไลน์
- ออฟไลน์ยังเป็นช่องทางจำหน่ายสำคัญ
ช่องทางจำหน่ายที่สำคัญสำหรับสินค้าแม่และเด็กยังคงเป็นช่องทางออฟไลน์ แม้ช่องทางออนไลน์จะมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นก็ตาม อาทิ ห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ไฮเปอร์มาเก็ต และร้านค้าที่จำหน่ายเฉพาะผลิตภัณฑ์เครื่องใช้สำหรับเด็ก (Stand-Alone Specialist Retailers) อาทิ MANJAKU, Anakku, Twins Baby, Tateh, Mothercare เป็นต้น
อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวสรุปว่า ในมาเลเซียไม่มีงานแสดงสินค้าสำหรับเด็กที่เป็นงานเพื่อการเจรจาธุรกิจโดยเฉพาะ การเจาะตลาดสินค้าสำหรับเด็กในมาเลเซียจึงทำได้ด้วยการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าสำหรับเด็กต่าง ๆ ที่เป็นงานของผู้บริโภค (Consumer Fair) โดยเฉพาะ ภายในงานจะมีทั้งผู้ผลิตสินค้าและผู้นำเข้าผู้จัดจำหน่ายสินค้าจากต่างประเทศเข้าร่วมด้วย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยควรหาโอกาสนัดหมายเจรจาธุรกิจแบบตัวต่อตัวกับผู้นำเข้า เพื่อทราบความต้องการตลาดและเป็นการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของคู่ค้าด้วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งจากผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID-19 กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้ปรับรูปแบบกิจกรรมหลายกิจกรรมที่เคยอยู่ในรูปแบบออฟไลน์ ให้เข้าสู่รูปแบบออนไลน์ หรือกิจกรรมไฮบริดมากขึ้นขณะเดียวกันยังได้เร่งรัดให้ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ที่มีอยู่ 58 แห่งทั่วโลก ทำงานร่วมกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดเพื่อเร่งหาตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ หาพันธมิตรทางการค้า พัฒนาข้อมูลการค้าให้มีประสิทธิภาพและทันการณ์ ตลอดจนหาช่องทางในการขยายตลาดเชิงลึก เพื่อเพิ่มยอดการส่งออกสินค้าไทย
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้เตรียมการจัดงานแสดงสินค้า STYLE Bangkok 2021 ในวันที่ 10-14 มีนาคม 2564 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการในกลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์และแฟชั่น ตลอดจนผู้ประกอบการในกลุ่ม Niche Market ได้แก่ สินค้าผู้สูงอายุ (60 +) สินค้าแม่และเด็ก (Mom & Kids) สินค้าสัตว์เลี้ยง (PET) ได้พบปะเจรจาการค้ากับผู้ซื้อ / ผู้นำเข้าทั้งจากต่างประเทศและในประเทศ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โทร.0 2507 8363 และ 8364