Newscurveonline.com : จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัส COVID-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีการทำงานสู่รูปแบบการทำงาน “แบบปกติใหม่” (New Normal) ดังที่ “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” ได้ทำการสำรวจกลุ่มตัวอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่พนักงานต้องการหลังช่วง COVID-19 ทั้งด้านการดำเนินชีวิตและการทำงาน โดยพบว่าพนักงาน 94% มีความกังวลเกี่ยวกับการกลับไปทำงานและการรักษาไว้ซึ่งตำแหน่งงาน ยกเว้นพนักงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ให้คุณค่าต่อความยืดหยุ่นมากที่สุด
“แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” ในฐานะที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญตลาดแรงงานเชิงนวัตกรรมชั้นนำระดับโลก ได้ทำการวิจัยสำรวจการทำงานรูปแบบใหม่ซึ่งเป็นข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่พนักงานต้องการหลังช่วง COVID-19 โดยสำรวจพนักงานมากกว่า 8 พันคนจาก 8 ประเทศ ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เม็กซิโก สิงคโปร์ สเปน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 โดย Reputation Leaders ทำการสำรวจพนักงานอายุ 18 ปีขึ้นไปเฉลี่ยตามอายุ เพศ แสดงให้เห็นว่าพนักงานในทุกประเทศจัดลำดับความสำคัญ 3 ประการสำหรับบรรทัดฐานใหม่ในอนาคต ได้แก่ 1.ความเป็นอิสระและสถานที่ทำงานในรูปแบบที่ปรับตามความต้องการของตนเองซึ่งให้โอกาสในการทำงานทางไกลเป็นบางครั้งแต่ไม่ใช่ตลอดเวลา 2.โอกาสที่เพิ่มขึ้นในการเรียนรู้ในรูปแบบเสมือนจริงและพัฒนาทักษะเพื่อให้ยังคงถูกจ้างงาน และ 3.การมุ่งเน้นที่การผสมผสานชีวิตการทำงานและครอบครัวในระยะยาว
พนักงานส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะวิกฤติจาก COVID-19 ถือเป็นจุดสิ้นสุดของการทำงานประจำในแต่ละองค์กรและมองหารูปแบบการทำงานแบบผสมที่สามารถผสมผสานงานและบ้าน ตามข้อมูลจากงานวิจัยใหม่ของ “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” (NYSE : MAN) และลำดับถัดมาจะเป็นเรื่องความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพของตนเองและครอบครัว พนักงานมีความกังวลมากที่สุดเกี่ยวกับการกลับไปทำงานในรูปแบบเดิม รวมทั้งการสูญเสียความยืดหยุ่นที่พวกเขาเคยได้รับ อนาคตสำหรับพนักงานโดยพนักงาน คือบทความฉบับที่สองของบทความในหัวข้อสิ่งที่พนักงานต้องการของ “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป”
งานวิจัยชี้ให้เห็นว่านายจ้างจำเป็นต้องนำแนวทางการให้ความสำคัญแก่บุคลากรเป็นอันดับแรกมาใช้และพิจารณาใหม่เกี่ยวกับอนาคตของการทำงานที่เหมาะสมสำหรับองค์กรและบุคคล เช่น การให้ความสำคัญแก่สุขภาพ สวัสดิภาพและความรับผิดชอบด้านการให้การดูแล
นายโจนัส ไพรซิง ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แมนพาวเวอร์กรุ๊ป กล่าวว่า สิ่งเริ่มต้นในฐานะภาวะวิกฤติทางสุขภาพได้กลายมาเป็นภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจและสังคมในเวลาต่อมา แม้ว่าประชากรในสัดส่วนไม่มากนักจะติดเชื้อ COVID-19 แต่ทุกคนจะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ในครั้งนี้
จากข้อมูลที่ได้ยังแสดงให้เห็นว่าพนักงานทั่วโลกรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับการกลับไปทำงาน – พวกเขามีความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพและความมั่นคงด้านอาชีพของตนเองโดยมองหารูปแบบและแนวทางการทำงานที่มีความยืดหยุ่นซึ่งช่วยให้แรงงานสามารถสร้างความสมดุลระหว่างการทำงานที่ออฟฟิศและบ้านได้ดียิ่งขึ้น โดยองค์กรต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญต่อสุขภาวะทางจิตใจและความยืดหยุ่น พร้อมยังแสดงให้เห็นถึงวิธีที่พวกเขาสร้างผลกระทบทางสังคมในช่วงเวลาที่ท้าทายจะอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุดที่จะดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถพิเศษและทำให้พนักงานมีความเชื่อมั่นมีสุขภาพดีและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ในภาวะการณ์ทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ความสามารถในการทำงานมีความสำคัญมากที่สุดสำหรับพนักงาน โดยพนักงาน 9 ใน 10 คนระบุว่าการรักษาไว้ซึ่งตำแหน่งงานของตนมีความสำคัญมากที่สุด อย่างไรก็ตาม วิธีที่พนักงานรู้สึกเกี่ยวกับการกลับไปทำงานแตกต่างกันตามเพศและความก้าวหน้าในอาชีพ สรุปได้ดังนี้
- พนักงานยุคเจเนอเรชั่นแซดและยุคมิลเลนเนียล : พนักงานยุคเจเนอเรชั่นแซดมีความกระตือรือร้นมากที่สุดที่จะกลับไปทำงานเพื่อพัฒนาอาชีพการงานและเข้าสังคมคิดเป็น 51% พนักงานยุคมิลเลนเนียลมีความรู้สึกเชิงบวกน้อยที่สุดอยู่ที่ 38%
- พนักงานยุคเจเนอเรชั่นเอ็กซ์และยุคบูมเมอร์ : พนักงานยุคเจเนอเรชั่นเอ็กซ์ให้คุณค่าต่อการกลับมาทำงานเพื่อให้ความร่วมมือและจดจ่อกับงาน รวมทั้งพักจากความรับผิดชอบต่อครอบครัว พนักงานยุคบูมเมอร์เลือกการเข้าสังคมและการร่วมมือกับเพื่อนร่วมงานคิดเป็น 34% นับเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดในการกลับมาทำงาน
- การแบ่งตามเพศ : ผู้ชายเกือบครึ่งหนึ่งประมาณ 46% มีความรู้สึกเชิงบวกเกี่ยวกับการกลับไปทำงาน ในขณะที่ผู้หญิงเพียงหนึ่งในสามคิดเป็น 35% รู้สึกเหมือนกัน ผู้หญิงระบุต่ออีกว่ารู้สึกกังวลและประหม่ามากกว่าเกี่ยวกับการกลับไปทำงาน ทั้งนี้ ผู้ชายและผู้หญิงจัดอันดับให้การไม่ต้องเดินทางและการมีความยืดหยุ่นในการทำงานตามความสะดวกเป็นข้อดีอยู่ใน 3 อันดับแรกของการทำงานที่บ้าน
- ส่วนพ่อแม่ที่ต้องทำงาน : ผู้ชายที่มีลูกจัดอันดับให้การใช้เวลากับครอบครัวเป็นข้อดีอันดับแรกของการทำงานทางไกล ผู้หญิงมีความรู้สึกเชิงลบมากกว่าเกี่ยวกับการกลับไปทำงานโดยมีความกังวลเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในกลุ่มที่มีลูกอายุน้อยคิดเป็น 61% สำหรับลูกอายุ 0-5 ปี คิดเป็น 53% สำหรับลูกอายุ 6-17 ปี และ 50% สำหรับลูกอายุ 18 ปีขึ้นไป
ผลการวิจัยที่ “แมนพาวเวอร์กรุ๊ป” สำรวจหลังเกิด COVID-19 ได้ส่งผลกระทบระดับโลกต่องานทั้งด้านการรักษาไว้ซึ่งตำแหน่งงานของตนมีความสำคัญสูงสุดสำหรับพนักงานทั่วโลก และความกังวลด้านสุขภาพ พนักงานกังวลใจมากที่สุดเกี่ยวกับการกลับไปปฏิบัติงานในรูปแบบเดิม โดยสูญเสียความยืดหยุ่นที่พวกเขาเคยได้รับ กล่าวคือ 8 ใน 10 ต้องการความสมดุลเพิ่มขึ้นระหว่างงานและครอบครัวในอนาคต ส่วน 43% ระบุว่าพนักงานเชื่อว่าเหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นจุดสิ้นสุดของการทำงานในรูปแบบของการเข้างาน 9.00 น. และเลิกงาน 17.00 น. พนักงานส่วนใหญ่ต้องการเข้าปฏิบัติงาน ณ สถานที่ทำงาน 2-3 วันต่อสัปดาห์
จากข้อสรุปดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าความต้องการของกลุ่มแรงงานนั้นมีสิ่งใดที่เป็นหัวใจหลักที่ส่งผลต่อวิถีการทำงานและดำเนินชีวิต ซึ่งผู้บริหารรวมถึงนักทรัพยากรบุคคลต่าง ๆ อาจจะนำผลการสำรวจครั้งนี้ไปวิเคราะห์ ประยุกต์และเตรียมแนวทางการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและสอดคล้องกับวิถีชีวิตในยุค New normal ได้ไม่มากก็น้อย
ผู้สนใจสามารถดาวน์โหลดรายงานฉบับสมบูรณ์ในหัวข้อ อนาคตสำหรับพนักงานโดยพนักงาน การทำให้ความปกติในอนาคตดียิ่งขึ้นสำหรับทุกคน กรุณาเยี่ยมชมเว็บไซต์ https://www.manpowerthailand.com/the-future-for-worker และ https://go.manpowergroup.com/futureforworkers